แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำขอรับชำระหนี้ว่ามีหนี้อยู่จริงตามคำขอก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 105 ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกเจ้าหนี้ ลูกหนี้หรือบุคคลใดมาสอบสวนในเรื่องหนี้สินจึงเป็นอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมายเพื่อสอบสวนหาความจริงว่าหนี้รายใดขอรับชำระหนี้ได้หรือต้องห้ามไม่ให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบที่จะใช้อำนาจนี้สอบสวนค้นคว้าหาความจริงเพื่อประโยชน์ของความเป็นธรรม การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำการสอบสวนยังไม่สิ้นกระแสความ แล้วอาศัยเพียงคำให้การของเจ้าหนี้ที่ตอบคำถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งตนยังสงสัยอยู่มาอ้างเป็นข้อพิรุธสงสัยว่าไม่มีมูลหนี้ต่อกันจริงเพื่อยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย)เด็ดขาด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2528 นางสาววีณา นุชวงษ์ เจ้าหนี้รายที่ 6 ยื่นคำขอรับชำระหนี้เงินกู้เป็นเงิน 152,000 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้วนายประชา อภินันท์ โดยนายตระกูล บุญปาสาณ ผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้รายที่ 13 โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ว่า เป็นหนี้สมยอมกันก่อหนี้ขึ้นโดยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน และเป็นหนี้ที่ได้กระทำขึ้นโดยรู้อยู่ว่าลูกหนี้ไม่มีความสามารถจะชำระหนี้ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว ทำความเห็นว่าควรยกคำขอรับชำระหนี้รายนี้เพราะไม่เชื่อว่าจะมีมูลหนี้ต่อกันจริง เป็นหนี้ที่เกิดจากการสมยอมทำขึ้นมาเพื่อประสงค์จะให้เจ้าหนี้รายอื่นเสียเปรียบโดยจะได้รับส่วนเฉลี่ยน้อยลง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนเจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่า นางสาววีณา นุชวงษ์ เจ้าหนี้รับราชการกองอุทธรณ์ภาษีอากร กรมสรรพากร ตำแหน่งพนักงานพิมพ์ดีด ได้รับเงินเดือนเดือนละ4,900 บาท และมีรายได้จากการขายเครื่องดื่มอีกประมาณเดือนละ10,000 บาท นอกจากนั้นยังมีรายได้เป็นค่าดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงินระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2526 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2527ลูกหนี้ได้กู้เงินจากเจ้าหนี้ไป 6 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม2526 จำนวน 80,000 บาท วันที่ 25 มกราคม 2527 จำนวน1,000 บาท กำหนดใช้คืนวันที่ 31 มกราคม 2527 เดือนกุมภาพันธ์ 2527จำนวน 5,000 บาท กำหนดใช้คืนวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2527 วันที่1 มีนาคม 2527 จำนวน 6,000 บาท กำหนดใช้คืนวันที่ 30 มีนาคม 2527วันที่ 16 มีนาคม 2527 จำนวน 54,000 บาท วันที่ 5 มิถุนายน 2527จำนวน 6,000 บาท กำหนดใช้คืนภายในวันที่ 29 มิถุนายน 2527 การกู้เงินทั้ง 6 ครั้ง ตกลงคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยชำระดอกเบี้ยทุกเดือนปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญากู้ยืมและหนังสือกู้ยืมเอกสารหมาย จ.1-จ.6 ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยให้เพียง 2 ครั้ง หลังจากนั้นมิได้ชำระให้อีกเลย
เจ้าหนี้ผู้โต้แย้งไม่ติดใจนำพยานหลักฐานมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวน
พิเคราะห์แล้วคดีมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยว่า หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระมีมูลหนี้อยู่จริงหรือไม่ โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นและศาลล่างทั้งสองเห็นด้วยกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาว่าพยานหลักฐานที่เจ้าหนี้นำสืบนั้นมีพิรุธสงสัย ไม่เชื่อว่ามีมูลหนี้ต่อกันจริง เนื่องจากการกู้ยืมครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2526 จำนวนเงิน 80,000 บาท ตามเอกสารหมายจ.1 เจ้าหนี้ให้กู้ยืมเงินไปด้วยเงินสด จึงไม่เชื่อว่าเจ้าหนี้จะเก็บเงินไว้ที่บ้านจำนวนมากแล้วนำมาให้กู้ ทั้งฐานะของเจ้าหนี้ก็มีเพียงเงินเดือน ส่วนรายได้อย่างอื่นไม่น่าเชื่อว่าจะมีจริงและเจ้าหนี้ให้กู้ยืมไปแล้วกลับให้กู้ยืมอีกโดยที่ยังมิได้ใช้หนี้เก่ารวมทั้งดอกเบี้ย เชื่อว่าเจ้าหนี้และลูกหนี้สมยอมกันก่อหนี้ขึ้นโดยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน สำหรับเหตุผลที่ยกขึ้นมาตั้งข้อสงสัยในมูลหนี้ของเจ้าหนี้นั้นสืบเนื่องมาจากการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดเจ้าหนี้ไปสอบสวนเพียงปากเดียว ในการสอบสวนเจ้าหนี้ให้การโดยตอบคำถามของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถึงฐานะของเจ้าหนี้ว่าเจ้าหนี้เป็นข้าราชการ ทำงานมา20 กว่าปี มีเงินเดือนเดือนละ 4,900 บาท มีรายได้จากการขายเครื่องดื่มเดือนละประมาณ 10,000 บาท มีรายได้จากการให้กู้ยืมเงินได้รับผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ย เจ้าหนี้มีเงินฝากอยู่ในธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานขาว ธนาคารกรุงไทยธนาคารศรีอยุธยา สาขาบางลำภู จากผลการสอบสวนดังกล่าวเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เชื่อว่านอกจากเงินเดือนแล้วรายได้อื่นและทรัพย์สินไม่เชื่อว่ามีอยู่จริง เพราะเจ้าหนี้ไม่มีหลักฐานประกอบเป็นเพียงกล่าวอ้างลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนัก ข้อนี้เห็นว่า แม้เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำขอรับชำระหนี้ว่ามีหนี้อยู่จริงตามคำขอก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 105 ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือบุคคลใดมาสอบสวนในเรื่องหนี้สินจึงเป็นอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมายเพื่อสอบสวนหาความจริงว่าหนี้รายใดขอรับชำระหนี้ได้ หรือต้องห้ามไม่ให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบที่จะใช้อำนาจนี้สอบสวนค้นคว้าหาความจริงเพื่อประโยชน์ของความเป็นธรรม การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตั้งคำถามให้เจ้าหนี้ตอบเพียงเท่าที่ถาม แล้วจดรายงานว่าเจ้าหนี้แถลงหมดพยานหลักฐานเพียงเท่านี้ไม่ติดใจนำพยานอื่นมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเท่านั้น ก็หาได้หมายความว่าเจ้าหนี้ไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์หรือเป็นพิรุธไม่ทั้งคดีนี้เจ้าหนี้ก็ได้เบิกความเป็นพยานและอ้างพยานเอกสารประกอบคำขอรับชำระหนี้ของตนไว้แล้วมิใช่ว่าเจ้าหนี้ไม่มีพยานหลักฐานใดเลยดังนั้นหากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีข้อสงสัยในเรื่องหนี้สินหรือฐานะของเจ้าหนี้ที่อ้างว่าได้ฝากเงินไว้กับธนาคารต่าง ๆ นั้นจริงหรือไม่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะกำหนดให้เจ้าหนี้นำหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมได้ ในเมื่อเจ้าหนี้ไม่นำพยานหลักฐานมาแสดงจึงจะถือว่าเจ้าหนี้มีพิรุธ จากนั้นจึงทำความเห็นเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ต่อไปแต่คดีนี้ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หาได้กระทำการดังกล่าวไม่ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งทำการสอบสวนยังไม่สิ้นกระแสความแล้วอาศัยเพียงคำให้การของเจ้าหนี้ที่ตอบคำถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งตนยังสงสัยอยู่แล้วอ้างว่าเป็นข้อพิรุธสงสัยว่าไม่มีมูลหนี้ต่อกันจริงเพื่อยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงเป็นการไม่ชอบ อีกประการหนึ่งเจ้าหนี้ผู้โต้แย้งเองก็โต้แย้งไว้เพียงลอย ๆ เท่านั้นไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์หักล้างพยานเจ้าหนี้ แสดงให้เห็นอยู่ส่วนหนึ่งว่าผู้โต้แย้งไม่อาจหักล้างพยานเจ้าหนี้ได้ และเมื่อพิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งต่างรับราชการอยู่ในส่วนราชการเดียวกันแล้ว ก็เห็นว่าการที่เจ้าหนี้จะไปสมคบกับเจ้าหนี้อื่นมาร่วมกันฟ้องให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายเพื่อที่เจ้าหนี้จะได้รับส่วนแบ่งจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ทำให้เจ้าหนี้อื่นได้รับส่วนเฉลี่ยน้อยลงย่อมเป็นไปไม่ได้เพราะเจ้าหนี้ด้วยกันเองที่มาร่วมกันฟ้องก็คงไม่ยอม ทั้งการที่ลูกหนี้จะสมยอมกับเจ้าหนี้ก่อหนี้ขึ้นเพื่อให้เจ้าหนี้นำมาฟ้องตนเองให้เป็นบุคคลล้มละลายยิ่งเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ เนื่องจากลูกหนี้ยังรับราชการอยู่ หากศาลพิพากษาให้ล้มละลายอาจต้องออกจากราชการและหมดอนาคตในการประกอบอาชีพอื่น ฉะนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะฟังว่าลูกหนี้และเจ้าหนี้สมยอมกันก่อหนี้ขึ้นโดยไม่มีมูลหนี้ต่อกันเพื่อนำมูลหนี้มาฟ้องและเพื่อรับส่วนแบ่งจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนที่เจ้าหนี้มีความสามารถให้ลูกหนี้กู้ยืมได้หรือไม่นั้นเห็นว่า เจ้าหนี้รับราชการมานาน นอกจากเงินเดือนที่ได้รับประจำแล้ว เจ้าหนี้ยังมีรายได้อย่างอื่นจากการขายเครื่องดื่ม รวมทั้งออกเงินให้กู้เจ้าหนี้ย่อมมีฐานะและเงินสดพอที่จะให้ลูกหนี้กู้ได้ และแม้พยานหลักฐานในชั้นสอบสวนเจ้าหนี้ไม่มีโอกาสนำมาแสดงสนับสนุนคำให้การก็ตาม ในชั้นฎีกาเจ้าหนี้ก็แสดงหลักทรัพย์เป็นที่ดินหลายแปลงมาท้ายฎีกา ซึ่งพอที่จะสนับสนุนให้เห็นว่าเจ้าหนี้อยู่ในฐานะให้ลูกหนี้กู้ยืมได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระมามีมูลหนี้ต่อกัน ปัญหาที่จะต้องพิเคราะห์ต่อไปมีว่า หนี้ทั้งหมดที่เจ้าหนี้ขอรับชำระ เป็นหนี้ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระตามมาตรา 94แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หรือไม่ เห็นว่า ในการกู้ยืมกันนั้น เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้ยืมเงินไปหลายครั้ง ก่อนหนี้ที่ขอรับชำระในคดีนี้และหนี้เหล่านั้นลูกหนี้ชำระหนี้หมด ต่อมาเมื่อวันที่11 สิงหาคม 2526 ลูกหนี้กู้จากเจ้าหนี้ไปอีก เป็นเงิน 80,000 บาทตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 หนี้รายนี้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 94ดังกล่าว เจ้าหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้ ตามมาตรา 130(8) ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.2-จ.6 นั้น ได้ความว่า เป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กู้ไปภายหลังการกู้ยืมครั้งแรกตามเอกสารหมาย จ.1 โดยที่เจ้าหนี้ยังไม่ได้รับชำระหนี้ครั้งแรกเลย คงได้ดอกเบี้ยเพียงสองครั้ง ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่าเป็นการให้ดอกเบี้ยในการกู้ครั้งใด แล้วลูกหนี้ก็ไม่เคยชำระหนี้อีกเลย ทั้งได้ความต่อไปว่ายังมีเจ้าหนี้อื่นอีก รวมทั้งเจ้าหนี้ที่ร่วมกันฟ้องคดีนี้ซึ่งลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้เช่นกัน พฤติการณ์แสดงว่า การกู้ยืมในครั้งต่อ ๆ มาเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้ขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้เงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.2-จ.6 จำนวน 72,000 บาท ตามมาตรา 94(2) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 80,000บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 107(3), 130(8) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์