คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2267/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตได้อนุญาตให้พนักงานซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาออกนอกโรงงานในเวลาทำงานเพื่อไปร้องเรียนต่อสำนักงานแรงงานโดยมิได้ยื่นใบลาและมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน ดังนี้การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์อนุญาตให้พนักงานออกนอกโรงงานในเวลา12 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาพักเที่ยงของบริษัทจำเลย จึงเท่ากับเป็นการอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้อนุญาตให้พนักงานออกนอกโรงงานในเวลาทำงาน อันเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2533 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ครั้งสุดท้ายโจทก์ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายผลิต ได้รับค่าจ้างเดือนละ 11,000 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 15 และวันสุดท้ายของเดือน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้าวไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 8,433 บาท และใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 110,000 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งหัวหน้าแผนกควบคุมการผลิตเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2533 เวลาประมาณ 13 นาฬิกาโจทก์ได้ใช้และอนุญาตให้พนักงานรายวันของจำเลยซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ 4 คน ออกไปทำกิจธุระส่วนตัวนอกบริเวณโรงงานของจำเลย โดยอ้างว่าไปติดต่อสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรมจากจำเลยที่จำเลยไม่ยอมจ่ายค่าจ้างในวันลากิจ ซึ่งไม่เป็นความจริง และโจทก์แนะนำพนักงานทั้งสี่ว่าไม่ต้องยื่นใบลากิจล่วงหน้า 1 วัน ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและเมื่อพนักงานทั้งสี่กลับเข้ามาทำงานแล้ว โจทก์ยังร่วมมือกับพนักงานทั้งสี่ทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยอีก โดยให้พนักงานทั้งสี่ยื่นใบลากิจภายหลังและโจทก์ได้ทำการอนุมัติใบลากิจเป็นหลักฐานไว้ การกระทำของโจทก์เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและไม่สุจริต จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นตัวการสนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาละทิ้งหน้าที่และให้กระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลย กระทำตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ทั้งเป็นการปกปิดบิดเบือนข้อเท็จจริงทำหลักฐานรายงานและให้ข้อความเป็นเท็จแก่จำเลย ซึ่งเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นหนัวหน้าฝ่ายผลิตได้อนุญาตให้พนักงานซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาออกนอกโรงงานในเวลาทำงานไปร้องเรียนต่อสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการเกี่ยวกับเรื่องกำหนดเวลาการจ่ายค่าจ้างในวันลากิจโดยมิได้ยื่นใบลาและมิได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาก่อน เป็นการกระทำที่ผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ถือว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งของจำเลย และเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต มีเหตุที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และการเลิกจ้างโจทก์มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์อนุญาตให้พนักงานทั้งสี่ออกไปนอกโรงงานในเวลา 12 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาพักเที่ยงของจำำเลยพนักงานทุกคนมีสิทธิออกไปนอกบริเวณโรงงานได้แต่ต้องกลับเข้าทำงานต่อในช่วงบ่ายเวลา 13 นาฬิกา ถึงหากโจทก์ไม่อนุญาต พนักงานก็ออกจากโรงงานไปได้โดยไม่ถือว่าผิดระเบียบแต่อย่างใด พนักงานทั้งสี่ออกจากโรงงานไปแล้วได้กลับมาทำงานเมื่อเวลา 13.35 นาฬิกา ซึ่งช้าไป 35 นาที และได้อ้างถึงความจำเป็นที่ไม่สามารถกลับมาทำงานตามเวลาปกติในเวลา 13 นาฬิกาได้ โจทก์เห็นว่าพนักงานทั้งสี่ไม่มีเจตนาละทิ้งหน้าที่หรือมาสายหรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จึงได้นำใบลาของพนักงานทั้งสี่เสนอจำเลย การที่โจทก์อนุญาตให้พนักงานทั้งสี่ออกไปนอกโรงงานจึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งถือว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งของจำเลย และเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ซึ่งเป็นหนัวหน้าฝ่ายผลิต ได้อนุญาตให้พนักงานซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาออกนอกโรงงานในเวลาทำงานเพื่อไปร้องเรียนต่อสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการเกี่ยวกับกำหนดเวลาการจ่ายค่าจ้างในวันลากิจ โดยมิได้ยื่นใบลาและมิได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาก่อน ฉะนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์อนุญาตให้พนักงานออกนอกโรงงานในเวลา 12 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาพักเที่ยงของบริษัทจำเลยจึงเป็นการอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้อนุญาตให้พนักงานออกนอกโรงงานในเวลาทำงานอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์.

Share