คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2263/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเฉี่ยวชนกับรถยนต์โดยสารเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้รับความเสียหายตามเงื่อนไขทั่วไปในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 1.8ระบุว่าผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่นำหลักฐานมาแสดงต่อบริษัทเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ขับรถยนต์ในขณะเกิดอุบัติเหตุเคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ และกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.13.6 ระบุว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ใด ๆ หรือเคยได้รับแต่ขาดต่ออายุเกิน 180 วันหรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมายในการขับรถยนต์ ในเวลาเกิดอุบัติเหตุ แต่กรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.14 มีข้อความว่าข้อสัญญาพิเศษ ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในตารางบริษัทจะไม่ยกเอาความสมบูรณ์แห่งกรมธรรม์หรือเงื่อนไขทั่วไปเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด ดังนั้นจำเลยที่ 2 จะยกเอาเงื่อนไขทั่วไปข้อ 1.8 และการยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2.13.6 มาต่อสู้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ โจทก์ทั้งสิบเอ็ดมิได้ร่วมกันเรียกร้องให้จำเลยรับผิดอย่างเจ้าหนี้ร่วม แต่ละคนต่างเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่ตนได้รับเท่านั้น แม้จะอาศัยมูลละเมิดเดียวกัน คดีสำหรับโจทก์คนใดจะอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่จึงต้องแยกพิจารณาจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์คนนั้น ๆ เรียกร้อง โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 9เรียกร้องให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายให้แก่ตนเป็นจำนวนคนละไม่เกิน 50,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4และที่ 9 จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์เทรลเลอร์สิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-1191 ตาก ขณะเกิดเหตุมีนายแสงไม่ทราบนามสกุล เป็นลูกจ้างผู้ขับในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เทรลเลอร์ไว้จากจำเลยที่ 1 ในสัญญากรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามกรมธรรม์ต่อความบาดเจ็บหรือมรณะไม่เกิน 50,000 บาทต่อหนึ่งคน โจทก์ที่ 11 ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน10-0672 ราชบุรี บรรทุกคนโดยสารเต็มคันรถ เมื่อถึงที่เกิดเหตุนายแสงลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์เทรลเลอร์ด้วยความประมาท ชนกับรถยนต์โดยสารเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1, ที่ 2,ที่ 3, ที่ 4, ที่ 9, ที่ 10 ซึ่งเป็นผู้โดยสารและโจทก์ที่ 11ผู้ขับรถยนต์โดยสารได้รับบาดเจ็บ เด็กหญิงน้ำเย็น ไผ่ล้อมบุตรโจทก์ที่ 5 เด็กหญิงศิริพร คำผา บุตรโจทก์ที่ 6 นายต้อยลำเพา สามีโจทก์ที่ 7 และนางฉาบ ศรีทอง มารดาโจทก์ที่ 8 ซึ่งเป็นผู้โดยสารถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บขาข้างขวาขาด ไม่สามารถทำนาได้ ทำให้ขาดรายได้ปีละ 10,000 บาทเป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 50,000 บาท และค่าเสียหายแก่จิตใจเพราะขาขาด เป็นเงิน 20,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 70,000 บาทโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บสลบไป 2 วัน และหัวไหล่ดุ้งรักษาตัวที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง 3 สัปดาห์ และขณะนี้ยังทำงานหนักไม่ได้คิดค่าเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท โจทก์ที่ 3 ได้รับบาดเจ็บไหปลาร้าซ้ายหักรักษาอยู่ 4 เดือน แต่ยังหายไม่เป็นปกติ และทำงานหนักไม่ได้ตลอดชีวิต คิดค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท โจทก์ที่ 4 ได้รับบาดเจ็บที่ขาขวา หัวเข่าหลุดรักษาตัวที่โรงพยาบาล1 สัปดาห์ และหัวเข่ายังไม่เข้าที่ เดินไม่ถนัดทำงานหนักไม่ได้ตลอดชีวิต ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองของเด็กหญิงน้ำเย็นต้องเสียค่าปลงศพ15,000 บาท ต้องขาดรายได้จากค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ1,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 60,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 75,000 บาท โจทก์ที่ 6 เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงศิริพร ต้องเสียค่าปลงศพ 10,000 บาท และขอคิดค่าเสียหายแก่จิตใจเป็นเงิน 20,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน30,000 บาท โจทก์ที่ 7 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายต้อยต้องเสียค่าปลงศพ 20,000 บาท ต้องขาดไร้อุปการะปีละ10,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 50,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 70,000 บาท โจทก์ที่ 8 เป็นบุตรนางฉาบต้องเสียค่าทำศพ 15,000 บาท ต้องขาดไร้อุปการะเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 60,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 75,000 บาทโจทก์ที่ 9 ได้รับบาดเจ็บสะโพกหลุดและเคลื่อนจากเดิมทำให้เดินไม่ถนัด ทำให้ร่างกายพิการคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 30,000 บาทโจทก์ที่ 10 ได้รับบาดเจ็บขาขวาหัก รักษาหายแล้วแต่ขาทั้งสองข้างสูงไม่เท่ากัน เดินไม่ถนัดคิดค่าเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจเป็นเงิน 40,000 บาท โจทก์ที่ 11 มีอาชีพรับจ้างขับรถได้รับบาดเจ็บขาหักทั้งสองข้าง ยังเดินได้ไม่ดีไม่สามารถขับรถยนต์ได้ตลอดชีวิต คิดค่าเสียหายเป็นเวลา 3 ปี เป็นเงิน 129,600 บาทขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้ง 11 คน เป็นเงินรวม 659,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเพราะโจทก์ที่ 11ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-0672 ราชบุรี ด้วยความประมาทจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ผิดเงื่อนไขในสัญญาประกันภัยคือจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำหลักฐานมาแสดงต่อจำเลยที่ 2เพื่อพิสูจน์ว่านายแสงเป็นผู้ขับรถยนต์ในขณะเกิดเหตุเคยได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1จำนวน 70,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 30,000 บาท ให้โจทก์ที่ 3จำนวน 30,000 บาท ให้โจทก์ที่ 4 จำนวน 25,000 บาท ให้โจทก์ที่ 5จำนวน 70,000 บาท ให้โจทก์ที่ 6 จำนวน 30,000 บาท ให้โจทก์ที่ 7จำนวน 60,000 บาท ให้โจทก์ที่ 8 จำนวน 70,000 บาท ให้โจทก์ที่ 9จำนวน 30,000 บาท ให้โจทก์ที่ 10 จำนวน 30,000 บาท ให้โจทก์ที่ 11จำนวน 72,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดคนละ 22,727.27 บาท จำเลยที่ 2อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า นายแสงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และขับรถยนต์เทรลเลอร์หมายเลขทะเบียน80-1191 ตาก ของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเฉี่ยวชนกับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-0672 ราชบุรี เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 11 ได้รับอันตรายและอันตรายสาหัส เด็กหญิงน้ำเย็น ไผ่ล้อม เด็กหญิงศิริพร คำผา นายต้อย ลำเพา และนางฉาบ ศรีทอง ถึงแก่ความตายโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 8 ได้รับความเสียหายเป็นเงินคนละ70,000 บาท โจทก์ที่ 6 และที่ 10 ได้รับความเสียหายเป็นเงินคนละ30,000 บาท โจทก์ที่ 7 และที่ 11 ได้รับความเสียหายเป็นเงิน60,000 บาท และ 72,000 บาท ตามลำดับ…
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1ผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขทั่วไป ข้อ 1.8ในกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ปล.1 ที่ระบุว่า ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่นำหลักฐานมาแสดงต่อบริษัท เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ขับรถยนต์ในขณะเกิดอุบัติเหตุเคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ และกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.13.6 ก็ระบุไว้ว่าการประกันภัยตามข้อ 2.1 ข้อ 2.2 และข้อ 2.3 ซึ่งเป็นเรื่อง ความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะ ความรับผิดต่อผู้โดยสารและความรับผิดต่อทรัพย์สิน ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ใด ๆ หรือเคยได้รับแต่ขาดต่ออายุเกิน 180 วัน หรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมายในการขับรถยนต์ในเวลาเกิดอุบัติเหตุ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.14 มีข้อความว่า “ข้อสัญญาพิเศษ ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในตารางบริษัทจะไม่ยกเอาความสมบูรณ์แห่งกรมธรรม์ หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย หรือข้อ 2.13 หรือเงื่อนไขทั่วไป เว้นแต่ข้อ 1.2 เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามข้อ 2.1 หรือข้อ 2.2 เมื่อบริษัทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วแต่บริษัทไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายหรือตามกรมธรรม์นี้ต่อผู้เอาประกันภัยเพราะกรณีดังกล่าวข้างต้นนั้น ซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้เอาประกันภัยต้องใช้จำนวนเงินที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นคืนให้บริษัททันที” ดังนั้น จำเลยที่ 2 จะยกเอาเงื่อนไขทั่วไปข้อ 1.8 และการยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.13.6 มาต่อสู้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 1ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนแรกก่อนเป็นเงิน1,000 บาท หากจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต้องนำเงินส่วนนี้หักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเสียก่อนนั้นเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินส่วนนี้ให้โจทก์คนหนึ่งคนใดไปแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 9ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลกำหนดสูงเกินไป ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 9 ไม่ควรเกินคนละ 5,000 บาท และค่าเสียหายของโจทก์ที่ 4 ไม่ควรเกิน 3,000 บาท ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดมิได้ร่วมกันเรียกร้องให้จำเลยรับผิดอย่างเจ้าหนี้ร่วม แต่ละคนต่างเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่ตนได้รับเท่านั้น แม้จะอาศัยมูลละเมิดเดียวกัน คดีสำหรับโจทก์คนใดจะอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่นั้น ต้องแยกพิจารณาจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์คนนั้น ๆ เรียกร้อง ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 9เรียกร้องให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายให้แก่ตนเป็นจำนวนคนละไม่เกิน 50,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 9จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share