คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2262/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยกำหนดให้จำเลยชำระเงินเพื่อประกันความเสียหายของทรัพย์สินที่ระบุไว้ท้ายสัญญาเช่าให้แก่โจทก์ แม้โจทก์จะผิดสัญญาเพราะไม่สามารถเอาที่ดินที่ให้เช่าให้จำเลยดำเนินการร้านอาหารได้ต่อไป แต่เมื่อทรัพย์สินที่ระบุไว้ท้ายสัญญาเช่าเป็นของโจทก์ จำเลยก็ต้องคืนให้แก่โจทก์เมื่อจำเลยไม่คืนให้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่คืนเงินประกันความเสียหายจนกว่าจำเลยจะคืนทรัพย์สินที่เช่าให้โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพย์สินแก่โจทก์โดยมิได้ให้จำเลยต้องรับผิดดอกเบี้ยด้วยโจทก์มิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับดอกเบี้ยข้อพิพาทเรื่องดอกเบี้ยจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยอีก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าห้องอาหารครัวไทยพร้อมอาคารเลขที่ 87/1 และทรัพย์สินต่าง ๆ จากโจทก์ มีกำหนด 5 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 60,000 บาท ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2529 โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับให้ชำระค่าเช่าที่ติดค้าง จำเลยเพิกเฉย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่เช่าให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนโจทก์จนครบถ้วน และชดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ทั้งให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 60,000 บาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเช่า แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเอง เนื่องจากโจทก์หลอกลวงจำเลยว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เช่า ความจริงแล้ว ทรัพย์สินที่เช่าเป็นของนายไพโรจน์กับนางพรรณี ซึ่งมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบพร้อมทั้งแสดงหลักฐานว่าให้นางวิไลภรรยาโจทก์เช่ามีกำหนด 5 ปี 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่1 พฤศจิกายน 2523 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2528 และมีหนังสือบอกเลิกการเช่ากับจำเลย จำเลยจึงหยุดกิจการและส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายไพโรจน์กับนางพรรณีเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2529จำเลยได้รับความเสียหายเพราะโจทก์ไม่สามารถให้จำเลยเช่าทรัพย์ได้ตามสัญญา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2531เนื่องจากจำเลยได้ลงทุนปลูกสร้าง ตกแต่งห้องอาหารเป็นเงิน887,000 บาท จำเลยขอคิดค่าเสียหายจากโจทก์เพียง 443,500 บาทนอกจากนั้นจำเลยวางเงินประกันการเช่าไว้ต่อโจทก์ 1,000,000 บาทโจทก์ต้องคืนเงินดังกล่าวให้จำเลยด้วย ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ใช้เงินให้จำเลย 1,443,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า หนังสือมอบอำนาจท้ายคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะลายมือชื่อของจำเลยไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริง สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้จดทะเบียนจึงมีผลบังคับเพียง 3 ปี โจทก์ไม่ได้ผิดสัญญาเหตุที่จำเลยไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่เช่าได้เนื่องจากจำเลยส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้นายไพโรจน์เจ้าของที่ดินเอง โจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วยจำเลยทราบดีว่าโจทก์เช่าที่ดินจากนายไพโรจน์กับนางพรรณีเพื่อทำร้านอาหารในขณะที่จำเลยขอเช่ากิจการจากโจทก์ โจทก์ไม่ได้หลอกลวงจำเลย จำเลยไม่เสียหาย โจทก์มีสิทธิยึดเงินประกันค่าเสียหายไว้ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลย และบริวารออกจากทรัพย์สินที่เช่า ให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนโจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์เดือนละ 60,000 บาท นับแต่เดือนมกราคม 2529จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากทรัพย์สินที่เช่า และส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนโจทก์ครบถ้วน ฟ้องแย้งของจำเลยให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์เดือนละ 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่เดือนมกราคม 2529 เป็นต้นไป จนกว่าจะส่งมอบอาคารและทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.1 แก่โจทก์ แต่ไม่ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินที่เช่า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกมีว่า จำเลยเรียกเงินประกันความเสียหาย 1,000,000 บาท คืนได้หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารท้ายฟ้อง ข้อ 3 กำหนดให้ผู้เช่าคือจำเลยชำระเงิน 1,000,000 บาทเพื่อประกันความเสียหายของทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ท้ายสัญญาให้แก่ผู้ให้เช่า ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของโจทก์ นายไพโรจน์และนางพรรณีมิได้มีส่วนเป็นเจ้าของแต่อย่างใด ปรากฏว่าเมื่อโจทก์ผิดสัญญาเพราะไม่สามารถเอาที่ดินที่ให้เช่าให้จำเลยดำเนินการร้านอาหารได้ต่อไป โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาในส่วนนี้ แม้โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่ทรัพย์สินที่ระบุไว้ท้ายสัญญาเป็นของโจทก์เมื่อสัญญาระงับไป จำเลยจะต้องคืนทรัพย์สินนั้นแก่โจทก์มิใช่จะเอาทรัพย์สินของโจทก์ไปคืนให้คนอื่นหรือให้คนอื่นใช้เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยยังไม่ได้คืนทรัพย์สินให้โจทก์ แต่เมื่อน้องของจำเลยได้เช่าที่ดินจากนายไพโรจน์และนางพรรณีเพื่อประกอบธุรกิจการค้าอาหาร และได้ใช้ทรัพย์สินของโจทก์ต่อไปเช่นนี้ มิใช่เป็นยึดหน่วงทรัพย์สินของโจทก์แต่เป็นการเอาทรัพย์สินของโจทก์ไปใช้โดยไม่มีอำนาจกระทำได้การกระทำของจำเลยจึงเป็นการผิดสัญญา เมื่อจำเลยไม่คืนทรัพย์สินที่เช่าให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะไม่คืนเงินประกันความเสียหาย จนกว่าจำเลยจะคืนทรัพย์สินที่เช่าให้แก่โจทก์ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาประการต่อไปเกี่ยวกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีจากค่าขาดประโยชน์ในการใช้สอยทรัพย์สิน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพย์สินแก่โจทก์ โดยมิได้ให้จำเลยต้องรับผิดดอกเบี้ยด้วย โจทก์มิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับดอกเบี้ยข้อพิพาทเรื่องดอกเบี้ยจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยอีก ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ฎีกาประการสุดท้ายเกี่ยวกับค่าเสียหายของจำเลยในประเด็นเรื่องค่าเสียหายจำเลยอ้างว่าได้รับความเสียหายเนื่องจากได้ลงทุนปลูกสร้างอาคารทรงไทย 5 หลัง บ้านอาศัย ค่าตกแต่งสวนโกดังเก็บสินค้าและห้องทำบัญชี ห้องครัว ซุ้มประตู เป็นเงิน887,000 บาท จำเลยไม่ได้รับประโยชน์ให้ครบตามสัญญา ขอคิดค่าเสียหาย 443,500 บาท ค่าเสียหายที่จำเลยเรียกจากโจทก์เป็นค่าเสียหายที่จำเลยไม่สามารถใช้ประโยชน์ในสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยลงทุนเท่านั้น แต่ปรากฏจากข้อนำสืบของจำเลยรับฟังได้ว่า เมื่อจำเลยเช่าทรัพย์สินมาจากโจทก์แล้ว ได้ให้นางสาววีณา สุขีวัฒนาน้องจำเลยดำเนินกิจการร้านอาหาร เมื่อโจทก์ผิดสัญญาแล้ว จำเลยก็ไม่ได้คืนทรัพย์สินตามบัญชีท้ายสัญญาให้โจทก์ และนายนทีสุขีวัฒนา น้องจำเลยได้เช่าที่ดินจากนายไพโรจน์และนางพรรณีดำเนินกิจการร้านอาหารต่อไป โดยให้นางสาววีณาเป็นผู้ดำเนินการต่อไปตามเดิม ทั้งทรัพย์สินตามบัญชีท้ายสัญญา นางสาววีณาก็ได้ใช้ต่อไปเช่นเดิม จำเลย นางสาววีณาและนายนที ก็เป็นพี่น้องกันพฤติการณ์เช่นนี้เป็นการดำเนินกิจการร่วมกัน สิ่งปลูกสร้างที่จำเลยลงทุนไป จำเลยและน้องจำเลยก็ได้ใช้ประโยชน์ต่อมา ถึงแม้โจทก์จะผิดสัญญาและจำเลยอาจเสียหายจากการผิดสัญญา แต่ความเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในสิ่งปลูกสร้างนั้น จำเลยไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.

Share