คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2260/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

นอกจากจำเลยจะอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าโจทก์กระทำผิดวินัยโดยกระทำประมาทเลินเล่อจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยยังให้การว่าโจทก์ไม่มีความสามารถหรือประสบการณ์เพียงพอที่จะบริหารงาน ซึ่งศาลได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์หรือไม่ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ระบุความผิดหรือสาเหตุการเลิกจ้าง จำเลยจึงนำสืบได้ว่าโจทก์ไม่มีความรู้ความสามารถดังจำเลยให้การไว้ได้ หาเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาทไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์ในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายพัฒนาและควบคุมระบบ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ชี้แจงเหตุในการเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 8,400,000 บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยจริง แต่โจทก์มีพฤติการณ์ที่จำเลยไม่ไว้วางใจ กระทำผิดวินัยโดยประมาทเลินเล่อ จงใจทำให้จำเลยเสียหาย ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปในทางไม่สุจริต มีความประพฤติไม่เรียบร้อย จงใจฝ่าฝืนข้อกำหนดเงื่อนไขและระเบียบของจำเลย และโจทก์ไม่มีความสามารถหรือประสบการณ์เพียงพอที่จะบริหารงานในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายพัฒนาและควบคุมระบบ จำเลยจึงไม่อาจจ้างโจทก์ต่อไปได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่า สาเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่มีความรู้ความสามารถในการทำงานในตำแหน่งหน้าที่ โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานที่จำเลยมอบหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจของจำเลย ดังนั้นการที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์และความสามารถในการปฏิบัติงาน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาท และที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นอกจากจำเลยจะอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าโจทก์กระทำผิดวินัยโดยกระทำโดยประมาทเลินเล่อ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปในทางไม่สุจริต มีความประพฤติไม่เรียบร้อย ประพฤติตนเป็นที่รังเกียจแก่สังคม ฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบของจำเลย ตามคำสั่งสอบสวนโจทก์เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 4 แล้ว จำเลยยังได้ให้การด้วยว่า จำเลยได้พิจารณาความรู้ความสามารถของโจทก์แล้ว โจทก์ไม่มีความสามารถหรือประสบการณ์เพียงพอที่จะบริหารงานในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายพัฒนาและควบคุมระบบต่อไป ซึ่งศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์หรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใด ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ระบุความผิดหรือสาเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ จำเลยจึงนำสืบได้ว่า โจทก์ไม่มีความรู้ในวิชาการทางด้านบำบัดน้ำเสีย ไม่มีความรู้ทางด้านเชิงวิเคราะห์การประมาณการเกี่ยวกับการกำหนดรายละเอียดงานโยธา ไม่มีความรู้ทางด้านวิศวกรรมโยธาและสถาปัตยกรรม เมื่อเกิดน้ำท่วมในบริษัทจำเลย โจทก์ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ อันเป็นงานหลักที่จำเลยกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบตามเอกสารหมาย จ.2 หน้า 7 และ 8 ดังที่จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ได้ การนำสืบของจำเลยจึงหาเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาทไม่ และที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีข้อผิดพลาดบกพร่องในการทำงานที่ได้รับมอบหมายทำให้จำเลยไม่ไว้วางใจในความรู้ความสามารถในการทำงานของโจทก์หากให้โจทก์ทำงานต่อไปอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยเป็นจำนวนมาก การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เป็นการวินิจฉัยคดีตามประเด็นข้อพิพาทโดยตรง คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว…”
พิพากษายืน

Share