คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 226/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์และขับไล่จำเลยกับบริวารออกไป จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ในระหว่างพิจารณา เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จจำเลยตาย ศาลตั้งภรรยาจำเลยเป็นคู่ความแทนที่จำเลย ภรรยาจำเลยยื่นคำร้องว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยกับของตนมีสิทธิร่วมกัน ขอเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต การที่ร้องสอดเข้ามามิได้แสดงให้เห็นว่าที่ดินส่วนของตนอยู่ตรงไหนตอนใด และจำเลยเดิมต่อสู้คดีไว้ขัดแย้งต่อสิทธิของตนประการใด ต้องถือว่าร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) หาใช่เข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามไม่ เมื่อจำเลยเดิมไม่มีสิทธิจะยื่นคำให้การอีก จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าที่ดินเนื้อที่ 30 ไร่ตามแผนที่ท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ และให้ขับไล่นายทาจำเลยและบริวารออกไป

นายทาจำเลยให้การต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย โจทก์ไม่เคยครอบครองหรือเกี่ยวข้อง

ในระหว่างพิจารณา พอสืบพยานโจทก์เสร็จก่อนวันนัดสืบพยานจำเลยนายทาจำเลยตาย ศาลมีคำสั่งตั้งนางเงินภรรยาจำเลยเป็นคู่ความแทนจำเลยผู้มรณะ

นางเงินยื่นคำร้องว่าที่พิพาทเป็นของนายทาจำเลยกับนางเงินมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันขอเป็นจำเลยร่วมกับนายทาจำเลยและว่าเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจะยื่นคำให้การแก้คดีโจทก์ ศาลชั้นต้นสั่ง “สำเนาให้โจทก์อนุญาต”

ต่อมานางเงินยื่นคำให้การต่อสู้คดีมีข้อความเพิ่มเติมมากกว่าคำให้การของนายทาจำเลย

ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำให้การ นางเงินอุทธรณ์คำสั่งว่า ตนร้องสอดเข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ไม่ใช่ 57(2) ดังที่ศาลอ้าง ทั้งศาลชั้นต้นก็ได้สั่งอนุญาตให้ตนยื่นคำให้การแก้คดีไว้แล้ว

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

นางเงินฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า นางเงินร้องสอดเข้ามาในคดีโดยอ้างว่าตนเป็นภรรยาของนายทาและมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายทาฯ จำเลยก็ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่พิพาทอันเป็นการโต้เถียงครอบคลุมไปถึงทรัพย์พิพาททั้งหมด การที่นางเงินร้องสอดเข้ามาก็มิได้แสดงเหตุให้เห็นว่านายทาต่อสู้คดีไว้ขัดแย้งต่อสิทธิของตนประการใด ประเด็นสำคัญข้อแพ้ชนะมีว่าโจทก์เป็นเจ้าของหรือไม่ และตามคำร้องของนางเงินก็ขอเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยเดิม หาได้ขอเข้าเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คือ เป็นฝ่ายที่สามไม่จึงต้องถือว่าร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) จำเลยเดิมได้ยื่นคำให้การไว้แล้ว และสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จำเลยเดิมย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำให้การได้อีก จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิยื่นอีกเช่นกัน โดยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 58 มิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่ตนเข้าเป็นจำเลยร่วม แม้นางเงินจะได้กล่าวในคำร้องด้วยว่าจะยื่นคำให้การและศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต แต่ต่อมาศาลชั้นต้นก็สั่งไม่รับคำให้การและศาลฎีกาได้ชี้ขาดแล้วว่าร้องสอดเข้ามาตามมาตรา57(2) และไม่มีสิทธิยื่นคำให้การ คำสั่งอนุญาตของศาลชั้นต้นจึงตกไปในตัว พิพากษายืน

Share