แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 ประกอบการขนส่งบุคคลเดินรถโดยสารประจำทาง ได้เช่ารถยนต์ของจำเลยที่ 2 มาใช้ในการเดินรถโดยสารของตนโดยมีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็น คนขับ ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารโดยประมาทชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บ จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย แม้นายจ้างของโจทก์จะได้ออกเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ไปแล้วก็หาทำให้จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์พ้นความรับผิดในการชดใช้ค่ารักษาพยาบาลไม่โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยทั้งสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ประกอบการขนส่งบุคคลเดินรถโดยสารประจำทางจำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์ของตนมาร่วมในกิจการของจำเลยที่ 3 โดยมีจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 เป็นคนขับ จำเลยที่ 1ได้ขับรถโดยความประมาทชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3เป็นแต่เพียงเช่ารถของจำเลยที่ 2 มาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาท โจทก์ถูกรถชนเพราะความผิดของโจทก์เอง และธนาคารกรุงเทพจำกัด นายจ้างของโจทก์ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ข้อยุติฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เช่ารถโดยสารคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับขี่ มาใช้รับส่งผู้โดยสารอันเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 จะขับรถโดยสารรับส่งผู้โดยสารสายไหนอันเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 ได้นั้น จำเลยที่ 3 เป็นผู้กำหนดและใช้ให้จำเลยที่ 1 กระทำตามนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้กระทำแทนจำเลยที่ 3 ถือได้ว่า จำเลยที่ 3 กระทำการนั้นด้วยตนเอง หรือจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 นั่นเอง เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยที่ 3 ในฐานะตัวการ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งการละเมิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 425
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ค่ารักษาพยาบาล ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นผู้ชดใช้ให้โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์ไม่ได้จ่ายเอง ก็ไม่มีความเสียหายใดที่จำเลยที่ 3 ต้องชดใช้แก่โจทก์ โดยอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 เป็นข้อสนับสนุนฎีกานั้น เห็นว่า ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดนั้น แม้มาตรา 444 จะบัญญัติว่า”ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันต้องเสียไป” ก็ตาม จะพิจารณากฎหมายมาตรานี้เพียงมาตราเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณามาตรา 420 ประกอบด้วย ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายแก่ชีวิตก็ดีแก่ร่างกายก็ดี แก่อนามัยก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” จะเห็นว่าบทกฎหมายดังกล่าวบังคับให้ผู้ทำละเมิดเป็นผู้ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในการรักษาพยาบาล การที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดออกค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับธนาคารกรุงเทพ จำกัดโดยเฉพาะ หาทำให้ผู้ต้องรับผิดฐานละเมิดพ้นจากหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกทำละเมิดไม่ ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยทั้งสาม
พิพากษายืน