คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2257/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 กรรมการจำเลยที่ 1ผู้เดียวเปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์โดยมีเงื่อนไขในการสั่งจ่ายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เซ็นสั่งจ่ายพร้อมประทับตราของจำเลยที่ 1 โดยไม่คำนึงถึง ป. กับกรรมการอื่น ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อจำเลยที่ 2 ในนามของจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์และยินยอมให้โจทก์เพิ่มดอกเบี้ยในการกู้เบิกเงินเกินบัญชี ทั้งได้นำเงินฝากเข้าบัญชีและถอนเงินตลอดมา ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2เชิดตัวเองเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดในการที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาปากเกร็ดบัญชีเลขที่ 132 ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2522 จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีในบัญชีเดินสะพัดเป็นการชั่วคราว และตกลงเสียดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 300,000 บาท และสัญญาว่าหนี้ที่เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งมีอยู่ก่อนทำสัญญาทั้งหมดจำเลยที่ 1ยอมให้รวมเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีด้วย ทั้งยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ 15 ต่อปี โดยจะชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เป็นรายเดือนทุก ๆ เดือนหากเดือนใดค้างชำระดอกเบี้ยยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบต้นเงินในบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 เป็นคราว ๆ ได้ และเพื่อเป็นประกันในการชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ได้เข้าค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 เบิกเงินออกจากบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีเรื่อยมา ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2523 กระทรวงการคลังได้ออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยจากการกู้ยืมได้ไม่เกินร้อยละ 18 ต่อปี จำเลยที่ 1 จึงได้ทำหนังสือยินยอมให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 15 ต่อปีเป็นอัตราร้อยละ18 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2523 เป็นต้นไป หลังจากนี้แล้วจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าและเบิกเงินเกินบัญชีเรื่อยมา จนกระทั่งเงินเกินบัญชีอยู่เป็นจำนวนมาก โจทก์จึงได้บอกกล่าวทวงถามและตัดทอนบัญชี ซึ่งบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงในวันที่1 มกราคม 2525 ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์อยู่ตามบัญชีเดินสะพัดเป็นเงิน 341,302.07 บาท กับดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน8,920.60 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดจำนวน350,222.67 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 350,222.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 341,302.07 บาทนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงกับโจทก์ขอเบิกเงินเกินบัญชีชั่วคราว จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงหรือทำสัญญาหรือสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาจากธนาคารโจทก์สาขาปากเกร็ดแต่ประการใด จำเลยที่ 2ได้เบิกเงินเกินบัญชีในฐานะส่วนตัวที่ไม่เคยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 หรือกรรมการอื่นของบริษัทจำเลยที่ 1 ต่อมาประมาณต้น พ.ศ. 2523 จำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเลขที่ 132 กับหม่อมหลวงวีระ เกษมสันต์ ผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาปากเกร็ดแล้ว จำเลยจึงไม่เป็นหนี้ตามบัญชีเลขที่ 132ต่อโจทก์อีก จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน เพราะจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาจะทำสัญญาค้ำประกันตามบัญชีเลขที่ 132แต่มีเจตนาจะทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีซึ่งผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาปากเกร็ดได้แนะนำให้จำเลยที่ 2 กระทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในนามจำเลยที่ 1 เพื่อความสะดวกในการอนุมัติให้กู้เงิน เมื่อจำเลยที่ 2 ได้เลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและชำระหนี้เสร็จให้โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน350,222.67 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีของต้นเงิน 341,302.07 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้น จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เคยขอเปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทกระแสรายวัน เลขที่ 132ไว้กับธนาคารโจทก์ สาขาปากเกร็ด ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2522จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีต่อโจทก์ไว้กับธนาคารเดียวกัน ตามเอกสารหมาย จ.9 คดีมีปัญหาว่าจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1หรือไม่และจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดด้วยเพียงใดหรือไม่ คดีได้ความจากนายจงกล สุขเสงี่ยม พนักงานสินเชื่อโจทก์ และนางเสาวณีย์ จันทร์แดง ซึ่งเคยเป็นพนักงานสมุห์บัญชีธนาคารโจทก์สาขาปากเกร็ด ขณะเกิดเหตุพิพาทว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2522จำเลยที่ 1 ได้ขอเปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทกระแสรายวัน เลขที่ 132ตามเอกสารหมาย จ.7 ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2กระทำการแทนตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.8 วันที่ 30 กรกฎาคม2522 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของยอดหนี้ที่ค้างตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.9โดยจำเลยที่ 2 ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10 นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2523 จำเลยที่ 1ยินยอมให้โจทก์เพิ่มดอกเบี้ยจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 18 ต่อปีตามหนังสือยินยอมเอกสารหมาย จ.11 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีจำเลยที่ 1 และเบิกเงินด้วยเช็คตลอดมา คำพยานบุคคลโจทก์สอดคล้องกัน พิเคราะห์คำขอเปิดบัญชีเดินสะพัดเอกสารหมาย จ.7ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขอเปิดบัญชีให้จำเลยที่ 1 และมีข้อความในข้อ 11 ว่า “เงื่อนไขในการสั่งจ่าย นายสมเกียรติ จิตติพลังศรี (จำเลยที่ 2) เป็นผู้เซ็นสั่งจ่ายพร้อมประทับตรา” นอกจากนั้นรายงานการประชุมของบริษัทจำเลยที่ 1ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2522 เอกสารหมาย จ.8 ปรากฏใจความผลการประชุมวาระที่ 3 ว่า ที่ประชุมมีมติให้นายสมเกียรติจิตติพลังศรี (จำเลยที่ 2) กรรมการผู้จัดการเป็นผู้ไปติดต่อเปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาปากเกร็ด โดยมีเงื่อนไขในการสั่งต่อไปนี้ “1. นายสมเกียรติจิตติพลังศรี ลงลายมือชื่อแต่ผู้เดียว หรือ 2. นายประสงค์จิตติพลังศรี และนางกฤษณา พัวศิริ ลงลายมือชื่อร่วมกันพร้อมทั้งประทับตราของบริษัท นอกจากนี้นายสมเกียรติ จิตติพลังศรีเป็นผู้มีอำนาจในการติดต่อขอเปิดสินเชื่อในรูปต่าง ๆ ทุกรูปในนามบริษัทได้โดยลำพัง” เอกสารหมาย จ.7, จ.8 แสดงถึงการที่บริษัทจำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 กรรมการจำเลยที่ 1 ผู้เดียวมีอำนาจกระทำการสั่งจ่ายเช็คหรือขอเปิดสินเชื่อทุกประเภทในนามจำเลยที่ 1 โดยไม่คำนึงถึงกรรมการซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตามที่ปรากฏในหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์เอกสารหมาย จ.6 ว่าจะต้องมีนายประสงค์ จิตติพลังศรีกับกรรมการอีก 1 นาย ลงชื่อพร้อมประทับตราสำคัญจำเลยที่ 1ด้วย ปรากฏต่อมาว่าในวันที่ 30 กรกฎาคม 2522 หลังจากที่จำเลยที่ 1มีมติในที่ประชุมตามเอกสารหมาย จ.8 เพียง 3 วัน จำเลยที่ 2 ในนามจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.9ตามฟ้องต่อธนาคารโจทก์ สาขาปากเกร็ด และวันที่ 27 มีนาคม 2523ก็ได้ทำหนังสือให้ความยินยอมเอกสารหมาย จ.11 ยอมให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 18 ต่อปี ทั้งปรากฏตามรายการบัญชีกระแสรายวัน (สเตทเมนท์) เอกสารหมาย จ.12 ว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2522 จนถึงเดือนมีนาคม 2523 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้นำเงินฝากเข้าบัญชีและถอนเงินตลอดมา จนวันที่ 1มกราคม 2525 จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ตามบัญชีกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.12 จำนวน 341,302.07 บาท ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้ทักท้วงโจทก์ถึงรายการบัญชีการเงินก่อนหน้านั้นแต่อย่างใด คำพยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามฟ้องอันเจือสมกับข้อความในรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.8 ก่อนหน้าวันทำสัญญากู้เพียง 3 วันที่ว่า “…ที่ประชุมยังมีมติให้นายสมเกียรติจิตติพลังศรี (จำเลยที่ 2) เป็นผู้มีอำนาจในการติดต่อขอเปิดสินเชื่อในรูปต่าง ๆ ทุกรูปในนามบริษัทได้โดยลำพัง” จำเลยที่ 1จึงจำต้องผูกพันรับผิดในการที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.9 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 821″
พิพากษายืน

Share