คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2253/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ของห้างฯ จำเลยที่ 1 มิใช่เป็นหนี้ของจำเลยที่ 2 เป็นส่วนตัว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดต้องรับผิดร่วมกับห้างฯ จำเลยที่ 1 ในหนี้ที่ห้างฯ จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เท่านั้น เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างฯ จำเลยที่ 1 เด็ดขาด วันที่ 10 กรกฎาคม 2528 เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยภายหลังวันที่ 10 กรกฎาคม 2528 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 100

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้าง ฯ จำเลยที่ ๑ เด็ดขาด ต่อมาได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้าง ฯ จำเลยที่ ๑ เด็ดขาด ตามห้าง ฯ จำเลยที่ ๑ เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ ศาลชั้นต้นให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน ๑,๒๓๕,๔๐๗.๖๖ บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่า ห้าง ฯ จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้เจ้าหนี้รายที่ ๕ ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต และทรัสต์รีซีท ถึงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นวันที่ห้าง ฯ จำเลยที่ ๑ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำนวน ๑,๒๓๕,๔๐๗.๖๖ บาท จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้าง ฯ จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้สินของห้าง ฯ จำเลยที่ ๑ ในฐานะส่วนตัวได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๙ คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัย เจ้าหนี้รายที่ ๕ มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงินต้นตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๘ ถึงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๙ เป็นจำนวนเงิน ๑๕๔,๐๓๘.๑๕ บาท อีกด้วยหรือไม่ ที่เจ้าหนี้รายที่ ๕ ฎีกาว่า ตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้ หรือกู้เบิกเงินเกินบัญชี ตลอดจนสัญญาค้ำประกันหนี้สินทุกประเภท ตามเอกสารหมาย จ.๖ จ.๒๑ จ.๒๒ จ.๒๓ และ จ.๒๔ นั้น จำเลยที่ ๒ ได้ยอมรับผิดร่วมกับห้าง ฯ จำเลยที่ ๑ ในทันทีที่ห้าง ฯ จำเลยที่ ๑ ล้มละลาย เพราะฉะนั้นการทวงถามหรือไม่ ไม่ใช่เหตุที่จะสามารถคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ ๒ ได้หรือไม่ เจ้าหนี้รายที่ ๕ จึงยังคงเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ ๒ ได้ตลอดมาจนกระทั่งถึงวันที่จำเลยที่ ๒ ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๙) นั้น เห็นว่าจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เพราะฉะนั้นความรับผิดของจำเลยที่ ๒ จึงไม่มีจำกัดจำนวนและจะต้องรับผิดร่วมกับห้าง ฯ จำเลยที่ ๑ เมื่อได้ความว่าหนี้ที่เจ้าหนี้รายที่ ๕ ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ของห้าง ฯ จำเลยที่ ๑ ที่เป็นหนี้เจ้าหนี้รายที่ ๕ มิใช่เป็นหนี้ของจำเลยที่ ๒ เป็นส่วนตัว ดังนี้ จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่ห้าง ฯ จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้ที่เจ้าหนี้รายที่ ๕ เท่านั้น เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้าง ฯ จำเลยที่ ๑ เด็ดขาด วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๘ เจ้าหนี้รายที่ ๕ จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยภายหลังวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๘ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๐๐ แม้จำเลยที่ ๒ และเจ้าหนี้รายที่ ๕ จะมีข้อตกลงในสัญญาดังที่เจ้าหนี้รายที่ ๕ อ้างมา เจ้าหนี้รายที่ ๕ ก็ไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๘ ถึงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๙ ที่เจ้าหนี้รายที่ ๕ ฎีกาว่า ดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แม้ไม่เป็นหนี้ที่พึงขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย แต่ลูกหนี้ก็ยังต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ตามกฎหมาย จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิดดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๙/๒๕๐๖ ได้พิเคราะห์แล้ว คำพิพากษาฎีกาดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ เพราะคดีนี้จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้าง ฯ จำเลยที่ ๑ ด้วย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาเจ้าหนี้รายที่ ๕ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share