คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ตกลงซื้ออาคาร วางเงินมัดจำจำนวน 200,000 บาทไว้แก่จำเลย มีข้อตกลงว่าเมื่อโจทก์ชำระเงินให้ครบ 388,000 บาท แล้วจึงจะทำสัญญาจะซื้อขายกันเป็นหนังสือกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ ดังนี้ เมื่อคู่สัญญากำหนดจะทำสัญญากันโดยวิธีทำเป็นหนังสือ ให้มีข้อตกลงทุกข้อก็ต้องเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญา กรณีจึงยังเป็นที่สงสัยถือไม่ได้ว่าได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ ทำหนังสือสัญญาต่อกันแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง จะอ้างว่า โจทก์ไม่ยอมทำสัญญาเป็นหนังสือกับจำเลยเป็นการผิดสัญญาจะซื้อขายไม่ได้ เพราะสัญญายังไม่เกิด จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการร่วมค้ากับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2534 จำเลยทั้งสองร่วมกันเสนอขายอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น พร้อมที่ดินเนื้อที่ 28.75 ตารางวาในราคา 2,500,000 บาท โจทก์รับซื้อโดยวางเงินมัดจำให้จำเลยทั้งสองรับไปสามครั้งเป็นเงิน 200,000 บาทโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันว่าจะต้องทำสัญญาจะซื้อขายเป็นหนังสืออีกชั้นหนึ่งภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2534 หลังจากจำเลยทั้งสองรับเงินมัดจำไปแล้ว โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองให้ทำสัญญาจะซื้อขายเป็นหนังสือตามที่ตกลง แต่จำเลยทั้งสองขอเลื่อนการทำสัญญาตลอดมา จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2534 จำเลยทั้งสองมีหนังสือลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 แจ้งให้โจทก์ไปทำสัญญาจะซื้อขาย โดยกำหนดราคาซื้อขายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น3,500,000 บาท โจทก์จึงทักท้วงหลายครั้งว่าราคาซื้อขายที่จำเลยทั้งสองกำหนดมาใหม่นี้ไม่ตรงเจตนาเดิมขณะที่โจทก์วางมัดจำและขอให้จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายในราคา 2,500,000 บาทตามเดิม แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอม โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทักท้วง พร้อมกับกำหนดวันนัดทำสัญญาจะซื้อขายในหนังสือส่งมาถึงจำเลยทั้งสองรวม 2 ฉบับ จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือแล้วแต่เพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่อาจตกลงซื้อขายอาคารพาณิชย์กันให้สำเร็จได้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาไม่ซื้ออาคารพาณิชย์กับจำเลยทั้งสองด้วยวาจา พร้อมขอรับเงินมัดจำที่วางไว้คืนแต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมคืนให้โจทก์ โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสองให้ส่งคืนเงินมัดจำจำนวน 200,000 บาท แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือแล้วแต่เพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ชอบที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 200,000 บาทนับตั้งแต่จำเลยทั้งสองได้รับเงินมัดจำไปจากโจทก์เป็นดอกเบี้ยทั้งสิ้น 17,645.84 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 217,645.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นผู้ผิดนัดและผิดสัญญาต่อจำเลย จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำ 200,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาจำนวน200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงคงฎีกาได้เฉพาะข้อกฎหมาย จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่าสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เกิดแล้ว ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่4 เมษายน 2534 โจทก์ได้ตกลงซื้ออาคารพาณิชย์ 4 ชั้นเนื้อที่ 28.75 ตารางวาโดยแบ่งชำระ 3 ครั้ง รวมวางมัดจำจำนวน200,000 บาท ไว้แก่จำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4โจทก์และจำเลยทั้งสองมีข้อตกลงว่าเมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1ครบจำนวน 388,000 บาท แล้วจึงจะทำสัญญาจะซื้อขายกันเป็นหนังสือ กำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์และกำหนดด้วยว่า หากฝ่ายผู้ซื้อผิดนัดฝ่ายผู้ขายก็จะริบมัดจำ ดังนี้ จึงเห็นได้ว่านอกเหนือจากการวางเงินมัดจำแล้วโจทก์และจำเลยที่ 1ได้กำหนดที่จะต้องตกลงในหลักการต่าง ๆ คือ กำหนดราคาทรัพย์สินที่จะซื้อขาย วันโอนกรรมสิทธิ์และกำหนดด้วยว่าถ้าฝ่ายผู้ซื้อผิดสัญญาผู้ขายจะริบเงินมัดจำ ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับโดยชัดแจ้งแล้วว่าสัญญาจะซื้อขายจะต้องทำเป็นหนังสือ และโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็ยังโต้เถียงกันเรื่องราคาของอาคารพาณิชย์อยู่แม้การทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกฎหมายกำหนดให้ทำได้หลายวิธีด้วยกัน แต่เมื่อคู่สัญญากำหนดจะทำกันโดยวิธีทำเป็นหนังสือให้มีข้อตกลงทุกข้อตามความประสงค์ของคู่สัญญาก็ต้องเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญาจะนำเอาวิธีอื่น เช่น การวางเงินมัดจำมาวินิจฉัยว่าเป็นข้อตกลงจะซื้อขายกันแล้วโดยบริบูรณ์หาได้ไม่กรณีจึงยังเป็นที่สงสัยถือไม่ได้ว่าไม่มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะตกลงกันหมดทุกข้อ และได้ทำหนังสือสัญญาต่อกันแล้ว ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง จำเลยที่ 1จะอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาจะซื้อขายไม่ได้ เพราะสัญญายังไม่เกิดจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำตามสัญญา ต้องคืนแก่โจทก์ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ทุนทรัพย์ชั้นฎีกาเพียง 200,000 บาทแต่จำเลยที่ 1 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจากจำนวนทุนทรัพย์217,645.84 บาท จึงเห็นควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาให้แก่จำเลยที่ 1”
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่จำเลยที่ 1 เสียเกินมาให้แก่จำเลยที่ 1

Share