คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 225/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เรือฉลอมลำน้ำของโจทก์ถูกเรือ อ. ชนจมลงเมื่อวันที่ 11เมษายน 2520 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าบริษัท ท. เป็นผู้รับประกันวินาศภัยเรือ อ. ขอให้เรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2523 ซึ่งเป็นเวลากว่าสองปี นับแต่วันวินาศภัย คดีโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 ทนายจำเลยร่วมมีหนังสือถึงโจทก์ว่าเรื่องที่เรือโจทก์เกิดชนกับเรือ อ. และโจทก์ขอเรียกค่าเสียหายได้ส่งเรื่องให้ตัวการคือเจ้าของเรือ อ. พิจารณาต่อไปแล้วจะแจ้งผลการพิจารณาให้โจทก์ทราบภายในเวลาอันสมควรกับได้ให้เจ้าของเรือที่ได้รับความเสียหายส่งสำเนาใบประเมินความเสียหายมาให้รายละ 3 ฉบับนั้น การกระทำของจำเลยร่วมดังกล่าวเป็นเพียงแต่จะพิจารณาเรื่องค่าเสียหายยังไม่เป็นการแน่นอนว่าจะใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์เรียกร้อง จึงไม่เป็นการกระทำอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัย ตระหนักเป็นปริยายว่าจำเลยร่วมยอมรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา172 อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จำเลยเป็นเพียงตัวแทนเจ้าของเรือต่างประเทศ มีหน้าที่ในการรับขนสินค้าลงจากเรือ ติดต่อดำเนินพิธีการด้านการท่าเรือการศุลกากรและการตรวจคนเข้าเมือง จำเลยไม่ต้องรับผิดในการที่กัปตันผู้ควบคุมเรือซึ่งเป็นลูกจ้างเจ้าของเรือ กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ตัวแทนต้องรับผิดในผลละเมิดที่ลูกจ้างของตัวการได้กระทำไปในหน้าที่การงานของตัวการ ไม่ว่าตัวการจะอยู่ต่างประเทศหรือในประเทศ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของร่วมและเป็นผู้ได้รับมอบให้เป็นตัวแทนจากเจ้าของร่วมควบคุมดูแลกิจการเรือบรรทุกสินค้าเดินทะเลชื่อเรือ เอ็ม.เอส.อเมริกัน เมน จำเลยได้สั่งการให้นายไรโกหรือ โรโก เอสแมนเช กัปตัน นำเรือเอ็ม.เอส.อเมริกัน เมน เข้าจอดเทียบท่าที่ท่าเรือ รส.10 เพื่อทำการขนถ่ายสินค้า แต่นายไรโกหรือโรโก เอสแมนเช บังคับเรือด้วยความประมาทเลินเล่อ ทำให้เรือเอ็ม.เอส.อเมริกัน เมน พุ่งเข้าชนเรือฉลอมของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นแต่เพียงตัวแทนเจ้าของเรือ ไม่มีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาการเดินเรือและกัปตันเรือ ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยเป็นตัวแทนเจ้าของเรือและการที่เรือฉลอมของโจทก์จมเสียหายเพราะความประมาทเลินเล่อของนายไรโกหรือโรโก เอสแมนเช จำเลยก็ไม่ต้องรับผิด
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น บริษัทโทรีเซ่น (กรุงเทพฯ)จำกัด ถูกหมายเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำขอของโจทก์ โดยโจทก์อ้างว่าเป็นผู้รับประกันวินาศภัยเรือเอ็ม.เอส.อเมริกัน เมนจำเลยร่วมให้การว่า ไม่ได้เป็นผู้รับประกันวินาศภัยหรือตัวแทนผู้รับประกันวินาศภัย เรือเอ็ม.เอส.อเมริกัน เมน ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงกว่าความเป็นจริง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติแล้วมีว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เรือฉลอมลำน้ำ เลขทะเบียน กท 0465เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2520 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา นายไรโกหรือโรโก เอสแมนเช สัญชาติฟิลิปปินส์ กัปตันเรือบรรทุกสินค้าต่างประเทศชื่อเอ็ม.เอส.อเมริกัน เมน ได้ขับเรือดังกล่าวเข้าเทียบท่าเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือโอ.บี. หรือ รส.10ท่าเรือคลองเตย การท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยความประมาทเป็นเหตุให้เรือ เอ็ม.เอส.อเมริกัน เมน ชนเรือฉลอมลำน้ำ เลขทะเบียนกท 0465 ของโจทก์ ซึ่งจอดเทียบกับเรือสินค้าต่างประเทศชื่อนันยูมารู ทำให้เรือฉลอมลำน้ำของโจทก์แตกหักเสียหายและจมลงพร้อมกับสินค้าซึ่งบรรทุกอยู่ในเรือ และยังชนเรืออื่นซึ่งจอดอยู่ใกล้เคียงกันได้รับความเสียหาย เป็นเหตุให้นายเข็ม ศรีสวัสดิ์ได้รับบาดเจ็บ หลังเกิดเหตุนายไรโกหรือโรโก เอสแมนเช รับว่าได้ขับเรือโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กาย และยอมให้พันตำรวจตรีสถิตย์ ผดุงนานนท์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท่าเรือเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 200 บาท มีปัญหาพิจารณาตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์สำหรับบริษัทโทรีเซ่น (กรุงเทพฯ) จำเลยร่วมขาดอายุความหรือไม่ และบริษัทดีทแฮล์ม อินเตอร์เนชั่นแนลทรานสปอร์ต เซอร์วิสเซส จำกัด จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด
สำหรับฎีกาข้อแรก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882วรรคแรก บัญญัติว่า ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เรือฉลอมลำน้ำ เลขทะเบียน กท 0465 ของโจทก์ถูกเรือเอ็ม.เอส.อเมริกัน เมน ชนจมลงเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2520 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า บริษัทโทรีเซ่น (กรุงเทพฯ) จำกัดเป็นผู้รับประกันวินาศภัยเรือเอ็ม.เอส.อเมริกัน เมน จึงขอให้เรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2523อันเป็นเวลากว่าสองปีนับแต่วันวินาศภัย คดีโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 ที่โจทก์ฎีกาว่า เกิดเหตุแล้ว โจทก์ได้ติดต่อกับจำเลยร่วมเพื่อขอรับค่าเสียหาย ต่อมาจำเลยร่วมรับติดต่อเพื่อชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำเลยร่วมได้จ้างบริษัทอื่นมาสำรวจความเสียหายและตรวจดูและการกู้เรือ ห้ามโจทก์นำเรือขึ้นคานซ่อม สั่งให้โจทก์เสนอราคาค่าเสียหาย เรือของโจทก์ให้แก่จำเลยร่วม จนถึงวันที่ 2 ธันวาคม2520 เพื่อต่อรองค่าเสียหาย จำเลยร่วมยังได้ให้ทนายความมีหนังสือหมาย จ.23 ถึงโจทก์ตอบรับการเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2520 จำเลยร่วมโดยนายอีริค บรูสการ์ด เบิกความตอบคำถามค้านยอมรับว่า โจทก์และเจ้าของเรืออื่นที่ได้รับความเสียหายได้ติดต่อเกี่ยวกับค่าเสียหายจนถึงสิ้นปี 2521 และได้ให้โจทก์ส่งใบประเมินค่าเสียหายไปให้อีก 3 ฉบับ การกระทำของจำเลยร่วมดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยร่วมยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจนถึงสิ้นปี 2521 การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเมื่อวันที่ 29 กันยายน2523 และศาลอนุญาตแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น ปรากฏตามคำแปลหนังสือของทนายความของจำเลยร่วมเอกสารหมาย จ.23 ความว่า”อ้างถึงเรื่องการชนกัน เรือ เอ็ม/เอส “อเมริกันเมน” ขอตอบเรื่องดังกล่าวข้างต้นดังนี้ คำร้องของท่านเกี่ยวกับเรื่องข้างต้น ขอให้ชำระเงินจำนวน 1,450,000 บาท ได้ถูกเสนอมาที่เราแล้ว เรื่องนี้ได้ถูกส่งไปที่ตัวการ เจ้าของเรือเอ็ม/เอส “อเมริกันเมน” พิจารณาต่อไปแล้ว เราจะแจ้งผลการพิจารณาตัดสินให้ท่านทราบภายในเวลาอันควร”และนายอีริค บรูสการ์ด เบิกความว่า “โจทก์และเจ้าของเรืออื่นที่ได้รับความเสียหายได้มาติดต่อกับข้าพเจ้าแล้วเกี่ยวกับค่าเสียหายจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2521 และข้าพเจ้าเคยบอกให้เจ้าของเรือที่ได้รับความเสียหาย ให้ส่งสำเนาใบประเมินความเสียหาย รายละ 3 ฉบับมาให้ข้าพเจ้า” ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเพียงแต่จำเลยร่วมจะพิจารณาเรื่องค่าเสียหาย แต่เมื่อจำเลยร่วมได้ติดต่อไปยังต่างประเทศแล้ว ทราบว่ามิได้มีการประกันเรือเอ็ม.เอส.อเมริกัน เมน ไว้จึงได้ปฏิเสธไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมเป็นการไม่แน่นอนว่า จะใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์เรียกร้อง จึงไม่เป็นการกระทำอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่าจำเลยร่วมยอมรับสภาพหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า บริษัทดีทแฮล์ม อินเตอร์เนชั่นแนลทรานสปอร์ต เซอร์วิสเซส จำกัด จำเลย เป็นเจ้าของร่วมและตัวแทนของบริษัทเจ้าของเรือเอ็ม.เอส.อเมริกัน เมน ซึ่งอยู่ต่างประเทศ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ปรากฏตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยได้ยื่นเอกสารต่อกรมเจ้าท่า ขอให้เจ้าพนักงานนำร่องนำเรือเอ็ม.เอส.อเมริกัน เมน จากสันดอนเข้ามาที่ท่าเรือคลองเตยตามเอกสารหมาย จ.9, จ.11, จ.13, และ จ.24 ได้ยื่นเอกสารต่อกองตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจขออนุญาตนำบุคคลในเรือดังกล่าวเข้ามาและออกไปนอกราชอาณาจักร ตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 กับยื่นหนังสือถึงกรมศุลกากร ขออนุญาตนำเรือดังกล่าวพร้อมกับสินค้าเข้าที่ท่าเรือคลองเตย ค่าใช้จ่ายการขออนุญาตจำเลยเป็นผู้ออกทั้งสิ้น ตามเอกสารหมาย จ.20 ศาลฎีกาได้ตรวจเอกสารดังกล่าว ปรากฏว่า เอกสารที่จำเลยยื่นต่อกรมเจ้าท่า และการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยเป็นตัวแทนเจ้าของเรือเท่านั้นในเอกสารที่ยื่นต่อกองตรวจคนเข้าเมืองแจ้งชื่อบุคคลในเรือก็เป็นเรื่องกัปตันเรือดังกล่าวเป็นผู้แจ้ง แม้จะระบุว่าเรือดังกล่าวเป็นของบริษัทจำเลย แต่การระบุเช่นนั้น เป็นการกรอกข้อความในแบบพิมพ์ของทางราชการ น่าจะกรอกข้อความลงไปเพียงเพื่อให้ทราบว่าเรือดังกล่าวบริษัทใดในกรุงเทพฯ เป็นตัวแทนเพื่อประโยชน์ในการติดต่อเท่านั้น ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่า เรือเอ็ม.เอส.อเมริกัน เมน เป็นของบุคคลในต่างประเทศโดยจำเลยมิได้มีส่วนเป็นเจ้าของเรือ แต่เป็นเพียงตัวแทนเจ้าของเรือ ในการรับขนสินค้าลงจากเรือ ติดต่อดำเนินพิธีการด้านการท่าเรือ กรมศุลกากรและการตรวจคนเข้าเมือง ส่วนปัญหาว่า จำเลยจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าขณะเกิดเหตุนายไรโกหรือโรโก เอสแมนเช เป็นกัปตันควบคุมเรือเอ็ม.เอส.อเมริกา เมน เป็นลูกจ้างของเจ้าของเรือ จำเลยเป็นตัวแทนของเจ้าของเรือดังกล่าวในประเทศไทย แม้จะฟังว่า นายไรโกหรือโรโก เอสแมนเช กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เรือฉลอมลำน้ำของโจทก์จมลงและเสียหาย แต่ในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติให้ตัวแทนต้องรับผิดในผลละเมิดที่ลูกจ้างของตัวการได้กระทำไปในหน้าที่การงานของตัวการด้วย ไม่ว่าตัวการจะอยู่ต่างประเทศหรือในประเทศ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้รับผิดได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1265/2517 ระหว่างบริษัทรัตนสุรีย์ จำกัด โจทก์บริษัทเดินเรือทะเลชุนเชียง (ไทย) จำกัด กับพวก จำเลย เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยรับผิดแล้วประเด็นที่ว่าค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share