คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 225/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในขณะนี้ยังไม่มีรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศเป็นการแน่นอน และไม่มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ การวินิจฉัยบทกฎหมายใด ตลอดทั้งการตีความตามรัฐธรรมนูญ อันมิใช่เป็นเรื่องในวงงานของสภา ศาลย่อมมีอำาจกระทำได้
พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกฯ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ที่ให้ริบทรัพย์ของบุคคลอื่นผู้มิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิด ได้บัญญัติในสมัยใช้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2489 ต่อมาได้ใช้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2492 และรัฐธรรมนูญฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ข้อความที่ให้ริบทรัพย์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับหลังนี้ จึงเป็นโมฆะใช้ไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 มาตรา 113 และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในคำพิพากษาฎีกาเรื่องความผิดตามพระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักกันข้าวย่อมนำมาเปรียบเทียบกับคดีนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องในทำนองเดียวกัน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้ริบเรือยนต์ของกลางที่ใช้บรรทุกสินค้านั้นเสีย ผู้ร้องมายื่นคำร้องว่าเรือยนต์นั้นเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องไม่เห็นด้วยในการกระทำผิดของจำเลย ขอให้ศาลสั่งคืนเรือให้ผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๙ และฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ บัญญัติว่า ให้ริบสินค้ารวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรทุกและพาหนะใด ๆ ที่ใช้ลากจูงพาหนะบรรทุกสินค้านั้นเสีย โดยมิต้องคำนึงว่าเป็นของบุคคลใด และเจ้าของจะได้รู้เห็นในการกระทำผิดนั้นด้วยหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้น ผู้ร้องจึงขอคืนไม่ได้ และเรือจะเป็นของผู้ร้องจริงหรือไม่โจทก์ไม่ทราบ
ศาลชั้นต้นฟังว่า เรือเป็นของผู้ร้อง ๆ มิได้รู้เห็นในการกระทำของจำเลยด้วย เห็นว่าจะริบเรือของกลางไม่ได้ ตามนัยฎีกาที่ ๒๒๒/๒๔๙๔ ให้คืนเรือให้ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์ข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติที่โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยนี้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังมิได้ตีความว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะนำฎีกาดังกล่าวนั้นมาเทียบเคียงไม่ได้
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้ขณะนี้ยังไม่มีรัฐธรรมนูญ ในปัญหาเช่นกรณีนี้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะวินิจฉัยได้ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร มาตรา ๒๐ วรรคแรก และควรยึดถือเอาคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในเรื่องความผิดตามพระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักกันข้าว (ตามฎีกาที่อ้างนั้น) มาใช้กับเรื่องนี้ได้ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกฯ เป็นกฎหมายพิเศษ ไม่ขัดต่อความรับผิดทางอาญาในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังมิได้วินิจฉัยว่ากฎหมายที่โจทก์ฟ้องจำเลยนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะนำเรื่องก่อนมาเทียบเคียงไม่ได้ กับศาลไม่มีอำนาจตีความว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดบัญญัติให้ศาลเป็นผู้ตีความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะนี้ยังไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นการแน่นอน การวินิจฉัยบทกฎหมายใดตลอดทั้งการตีความตามรัฐธรรมนูญอันมิใช่เป็นเรื่องในวงงานของสภา ศาลย่อมมีอำนาจกระทำได้ พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกฯ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ ที่ให้ริบทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นของบุคคลใด และเจ้าของจะได้รู้เห็นในการกระทำผิดนั้นด้วยหรือไม่ก็ตามนั้น ได้บัญญัติในสมัยใช้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๔๘๙ ต่อมารัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๔๙๒ บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙ ว่า บุคคลจะไม่ต้องรับโทษทางอาญาเว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิด ฯลฯ และเมื่อใช้รัฐธรรมนูญฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๙๕ ก็มีมาตรา ๒๙ บัญญัติว่า รัฐย่อมเคารพต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชนฯ ฉะนั้น ข้อความที่ให้ริบทรัพย์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกฯ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ จึงขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ๒ ฉบับนี้ จึงเป็นโมฆะตามรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๑๑๓ คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๒/๒๔๙๔ นั้น ย่อมนำมาเปรียบเทียบกับคดีนี้ได้
เพราะเป็นเรื่องในทำนองเดียวกัน
พิพากษายืน

Share