คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2245/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำผิดฐานบุกรุกฐานหนึ่งและกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์อีกฐานหนึ่ง เพื่อแสดงว่าจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันก็ตาม การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีเหตุอันควร และได้พรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดา การกระทำของจำเลยเห็นได้ว่ามีเจตนาประสงค์ต่อผลโดยตรงต่อการที่จะพรากผู้เยาว์ และจำเลยก็ได้พรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาในทันทีทันใดที่เข้าไปในบ้าน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเนื่องกันเป็นกรรมเดียวไม่ขาดตอน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกรรม คือ บุกรุกเข้าไปในบ้านเรือนในเวลากลางคืน และได้พรากเด็กหญิงสุพรรณี อายุ ๕ ปี ๗ เดือน ไปจากบิดามารดา แล้วกระทำอนาจารผู้เยาว์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕, ๓๑๗, ๒๗๙, ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๙, ๑๒
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๕, ๓๑๗, ๒๗๙, ๙๑ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๙, ๑๒ ความผิดฐานบุกรุกเข้าไปพรากผู้เยาว์เป็นกรรมเดียวกัน ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๑๗ บทหนัก จำคุก ๑ ปี และฐานกระทำอนาจารตามมาตรา ๒๗๙ ให้จำคุก ๑ ปี รวมจำคุก ๒ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว ลดโทษให้หนึ่งในสาม จำคุก ๑ ปี ๔ เดือน
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปพรากผู้เยาว์เป็น ๒ กรรม และตามมาตรา ๓๑๗ วรรคท้าย ต้องระวางโทษจำคุกอย่างต่ำ ๒ ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าแก้เป็นว่า ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๑๗ บทหนัก จำคุก ๒ ปี รวมจำคุก ๓ ปี ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ คงจำคุก ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำสองกรรมต่างกันขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานบุกรุกเคหสถานตามมาตรา ๓๖๕ อีกด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องมาชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำผิดฐานบุกรุกฐานหนึ่ง และกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์อีกฐานหนึ่ง เพื่อแสดงว่าจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันก็ตาม การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของสิบตำรวจเอกจรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีเหตุอันควร และได้พรากเด็กหญิงสุพรรณีไปเสียจากสิบตำรวจเอกจรและนางองุ่นผู้เป็นบิดามารดาก็ตาม การกระทำของจำเลยดังกล่าวเห็นได้ว่ามีเจตนาประสงค์ต่อผลโดยตรงต่อการที่จะพรากผู้เยาว์ และจำเลยก็ได้พรากเด็กหญิงสุพรรณีไปเสียจากบิดามารดาในทันทีทันใดที่เข้าไปในบ้าน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเนื่องกันเป็นกรรมเดียวไม่ขาดตอน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ฎีกา
พิพากษายืน

Share