แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์จำเลยตกลงแบ่งปันมรดกโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือว่ายินยอมรับมรดกร่วมกันโดยมิได้บรรยายส่วนไว้ จำเลยจะนำสืบว่าความจริงโจทก์จำเลยตกลงรับมรดกที่ดินเป็นส่วนสัดตามที่มารดาชี้เขตไว้หาได้ไม่ เพราะเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 94 ต้องฟังว่าโจทก์ และจำเลยทุกคนซึ่งเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 จำเลยทำนาเสียทั้งหมด ไม่ยอมให้โจทก์ทำตามส่วนของโจทก์ โจทก์เรียกค่าเสียหายได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินตรงบริเวณที่โจทก์เคยปลูกบ้านมีเนื้อที่ 1 ไร่แก่โจทก์ มิฉะนั้นให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งห้าจดทะเบียนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1429 แก่โจทก์ 1 ใน 6 ส่วน หากการแบ่งไม่อาจทำได้ให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวม หรือขายทอดตลาดแบ่งให้โจทก์ตามส่วน จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า หลังจากนางจันทามารดาถึงแก่ความตาย ก่อนที่โจทก์จำเลยจะไปจดทะเบียนรับมรดกที่ดินรายพิพาทร่วมกัน โจทก์จำเลยได้ตกลงกันก่อนแล้วว่า ให้โจทก์และจำเลยทุกคนได้รับตามส่วนที่นางจันทามารดาชี้เขตไว้ให้ ข้อตกลงนี้มิได้มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมีผลผูกพันโจทก์และบังคับได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าที่ดินรายพิพาทเป็นมรดกของนางจันทา ย่อมตกทอดแก่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนละส่วนเท่า ๆ กันตามกฎหมาย ทั้งการที่โจทก์และจำเลยไปจดทะเบียนรับมรดกที่ดินรายพิพาท ณ สำนักงานเขตที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น ทุกคนได้ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน ว่ายินยอมรับมรดกร่วมกัน อันถือได้ว่าเป็นการแบ่งปันมรดกโดยสัญญา ซึ่งอยู่ในบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยได้ตกลงแบ่งปันมรดกโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือว่ายินยอมรับมรดกร่วมกัน จำเลยนำสืบว่าความจริงโจทก์และจำเลยทุกคนตกลงกันรับมรดกที่ดินเป็นส่วนสัดตามที่นางจันทามารดาชี้เขตไว้หาได้ไม่ เพราะเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เมื่อโจทก์และจำเลยลงชื่อรับมรดกที่ดินรายพิพาทถือกรรมสิทธิ์รวมกันโดยมิได้จดทะเบียนบรรยายส่วนไว้ ก็ต้องฟังว่าโจทก์และจำเลยทุกคนซึ่งเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 โจทก์จึงมีส่วนกรรมสิทธิ์ในที่ดินรายพิพาทอยู่ใน 1 ใน 6 ส่วน
ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันทำนาในที่ดินรายพิพาทตามส่วนแบ่งที่แต่ละคนได้รับยกให้จากมารดาจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีส่วนกรรมสิทธิ์ในที่ดินรายพิพาทอยู่ใน 1 ใน 6 ส่วน ดังได้วินิจฉัยแล้ว การที่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำนาในส่วนของโจทก์โดยเข้าแย่งทำนาเสียทั้งหมด จึงทำให้โจทก์ไม่ได้ทำนาตามสิทธิของตน เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้”
พิพากษายืน