คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2242/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อปี พ.ศ. 2492 โจทก์ซื้อที่ดิน 1 แปลงเนื้อที่ 11 ไร่ราคา 22,320 บาท ต่อมาปี พ.ศ. 2520 โจทก์แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็น 102 แปลงและให้ห้าง ส. ลงทุนทำถนน สร้างตึกแถว ติดตั้งไฟฟ้าและน้ำประปาลงบนที่ดินที่แบ่งแยก จากนั้นโจทก์และห้าง ส.ก็ขายที่ดินและตึกแถวโดยโจทก์จดทะเบียนขายเฉพาะที่ดิน ห้าง ส.ทำสัญญาขายเฉพาะตึกแถว โจทก์ขายที่ดินในราคาตารางวาละ 5,000 บาทได้เงินมาแล้ว 9 ล้านบาทเศษ ได้กำไรถึงประมาณ 1,000 บาท เห็นได้ว่าโจทก์ประกอบธุรกิจการค้าหากำไร จึงเป็นผู้ประกอบการค้าประเภทการค้าอสังหาริมทรัพย์ ต้องเสียภาษีการค้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์แบ่งที่นาของโจทก์ออกขายเป็นแปลงย่อมเพื่อปลดเปลื้องหนี้สิน แต่จำเลยเห็นว่าโจทก์ขายที่ดินอย่างเป็นทางการค้าหรือหากำไร จึงแจ้งการประเมินและมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้โจทก์เสียภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวม 8 แสนบาทเศษ ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าอสังหาริมทรัพย์การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2492 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3216 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร จากนางสาวรวีวรรณเอื้อวิทยา ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 โจทก์ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อยรวม 102 แปลง แล้วตกลงให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยใหม่ก่อสร้างทำการปรับปรุงที่ดินโดยทำถนน ติดตั้งเสาไฟฟ้า น้ำประปาและสร้างตึกแถวลงบนที่ดินที่แบ่งแยกแล้วนั้น หลังจากนั้นโจทก์และห้างดังกล่าวก็ขายที่ดินพร้อมตึกแถวโดยโจทก์เป็นผู้ทำสัญญาและจดทะเบียนซื้อขายเฉพาะที่ดิน ส่วนห้างดังกล่าวทำสัญญาขายเฉพาะตึกแถว โจทก์ไม่ได้นำเงินที่ได้จากการขายที่ดินไปยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าปัญหามีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์เสียภาษีการค้าสำหรับการขายที่ดินดังกล่าวในปี พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2523 และ พ.ศ. 2525 เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกสารหมาย ล.1ว่า โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3216 แปลงที่พิพาทกันในคดีนี้จากนางสาวรวีวรรณ เอื้อวิทยา เมื่อปี พ.ศ. 2492 ในราคา 22,320 บาทต่อมาในปี พ.ศ. 2520 โจทก์แบ่งแยกที่ดินแปลงนี้ออกเป็น 102 แปลงแล้วตกลงให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยใหม่ก่อสร้างปรับปรุงที่ดินให้โจทก์ โดยทำถนน ติดตั้งเสาไฟฟ้า น้ำประปา และสร้างตึกแถวลงบนที่ดินที่แบ่งแยกจากนั้นโจทก์และห้างดังกล่าวก็ขายที่ดินพร้อมตึกแถวโดยโจทก์ทำสัญญาและจดทะเบียนโอนขายเฉพาะที่ดิน ส่วนห้างดังกล่าวทำสัญญาขายเฉพาะตึกแถว กรณีเช่นนี้เห็นได้ว่า โจทก์ให้ห้างดังกล่าวปรับปรุงที่ดินของโจทก์ แล้วสร้างตึกแถวลงบนที่ดินของโจทก์โดยมุ่งแบ่งผลประโยชน์กันในการขายตึกแถวพร้อมที่ดินให้ราคาที่ดินตกเป็นของโจทก์แต่ผู้เดียว ส่วนห้างดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ลงทุนในการปลูกตึกแถวและปรับปรุงที่ดินได้ส่วนแบ่งในราคาขายตึกแถวไป การขายตึกแถวพร้อมที่ดินของโจทก์และห้างดังกล่าวนั้นได้มีการขายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโจทก์นั้นขายเฉพาะที่ดินได้ในราคาตารางวาละถึง 5,000 บาท มีกำไรถึงประมาณ 1,000 เท่าในปี พ.ศ. 2522 โจทก์ขายที่ดินไปถึง 58 แปลง เป็นเงิน 4,500,000บาทเศษ ในปี พ.ศ. 2523 ขายไป 13 แปลง เป็นเงิน 2,600,000 บาทเศษและในปี พ.ศ. 2525 ขายไป 2 แปลง เป็นเงิน 2,500,000 บาทเศษเช่นนี้เห็นได้ชัดว่าโจทก์ประกอบธุรกิจการค้าหากำไร โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าประเภทการค้าอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นการค้าประเภทที่ 11 ตามบัญชีอัตราภาษีการค้า โจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้าที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีหนี้สินมากจำเป็นต้องขายที่ดินแปลงนี้นั้นหาเป็นข้อแก้ตัวที่จะทำให้โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าได้ไม่ เพราะผู้ประกอบการค้าที่มีหนี้สินก็ยังคงเป็นผู้ประกอบการค้าอยู่นั่นเองการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตลอดจนการยึดทรัพย์รายนี้ชอบแล้ว คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share