คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2241/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจำเลยที่ 3 ที่สั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามคำร้องนั้น มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 1 ยังไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่านั้น มิได้บังคับโจทก์ให้กระทำหรือไม่กระทำการใด หากโจทก์ไม่ติดใจในค่าชดเชยนั้นต่อไปโจทก์ไม่จำต้องนำคดีไปฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และหากโจทก์ประสงค์จะได้ค่าชดเชยโจทก์ก็สามารถฟ้องคดีขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ได้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีคำขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ อันเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ในคดีล้มละลาย แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเข้ามาด้วย ก็เพื่อที่จะให้โจทก์ได้รับจ่ายค่าชดเชยจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ทำให้คดีนี้ไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งบริษัทสยาม ซินเทค แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2543 และมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและตั้งบริษัทด้งกล่าวเป็นผู้บริหารแผนเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2544 โดยโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2536 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการหน่วยงานรับผิดชอบดูแลงานโครงการบำบัดน้ำเสียกรุงรัตนโกสินทร์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 51,868 บาท ต่อมาวันที่ 28 กันยายน 2543 จำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 28 กันยายน 2543 จำนวน 48,410 บาท กับค่าชดเชยจำนวน 414,944 บาท ให้โจทก์ วันที่ 21 มิถุนายน 2544 โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานพื้นที่วัฒนา สังกัดจำเลยที่ 3 ว่าจำเลยที่ 1 ค้างจ่ายค่าจ้าง จำเลยที่ 2 สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 โดยบริษัทสยามซินเทค แพลนเนอร์ จำกัด ในฐานะผู้ทำแผนจ่ายค่าจ้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน โดยมิได้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างถึงวันที่จำเลยที่ 1 วางเงินต่อศาลรวม 15 เดือน เป็นเงิน 9,077.10 บาท ให้โจทก์ และวันที่ 16 พฤษภาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 1 ค้างจ่ายค่าชดเชย จำเลยที่ 2 สอบสวนแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) มีคำสั่งที่ 8/2545 ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและดอกเบี้ยตามคำร้อง คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพราะจำเลยที่ 1 ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง และจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำคดีไปฟ้องเอง จึงต้องถือเป็นยุติว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 414,944 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จและชำระค่าดอกเบี้ยของเงินค่าจ้างค้างจ่ายอีก 9,077.10 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยที่ 1 ด้วยการร่วมกับนายภัทรพงศ์ บุญยัง บุคคลภายนอกลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่การเป็นผู้จัดการหน่วยงานของจำเลยที่ 1 ยินยอมให้นายภัทรพงศ์เอาทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไปโดยทุจริต แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีที่จำเลยที่ 1 แจ้งความร้องทุกข์ แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3262/2545 ของศาลอาญาซึ่งอยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง จึงยังไม่อาจรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดดังกล่าว นอกจากนี้โจทก์ยังกระทำความผิดอาญาอื่นโดยเจตนาแก่จำเลยที่ 1 และจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายอีกหลายประการ กล่าวคือโจทก์ต้องสงสัยว่าลักกล้องสำรวจ กล้องวัดแนวเส้นและกล้องวัดระยะ 3 เครื่อง ราคา 27,500 บาท ไปจากสำนักงานของจำเลยที่ 1 ในช่วงวันที่ 9 ถึงวันที่ 13 กันยายน 2543 โจทก์จัดเก็บเงินผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำเสียและเมื่อโครงการเสร็จมีเงินคงเหลือ 99,928 บาท แต่โจทก์ไม่ส่งคืนให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมดูแลรักษาทรัพย์สินในหน่วยงานก่อสร้างที่โจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแล เป็นเหตุให้มีคนร้ายลักกล้องสำรวจของจำเลยที่ 1 ไป 4 เครื่อง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2543 มูลค่า 1,160,000 บาท และโจทก์ประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบแบบแผนผังงานให้ถูกต้องเรียบร้อยก่อนลงมือทำงาน เป็นเหตุให้คนงานใช้รถขุดตักถูกสายโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยขาดเสียหาย คิดเป็นเงิน 3,804,000 บาท ถูกสายเคเบิลใยแก้วนำแสงของบริษัทเทเลคอมเอเชีย จำกัด (มหาชน) ขาดเสียหาย คิดเป็นเงิน 1,612,624.95 บาท และถูกสายเคเบิลใยแก้วนำแสงของบริษัทคอมลิงก์ จำกัด ได้รับความเสียหายอีก 1,652,159.79 บาท ทำให้จำเลยที่ 1 ถูกเรียกร้องให้ชำระหนี้ดังกล่าวรวมเป็นเงิน 7,068,784.74 บาท และฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำเพราะในระหว่างศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 6509/2543 หมายเลขแดงที่ 9286/2543 เรียกให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวนเดียวกันนี้ซึ่งมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งให้โจทก์ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีฟื้นฟูกิจการแต่โจทก์ไม่ดำเนินการ กลับไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานจนพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องในคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ด้วยการนำใบเสนอราคาซื้อไม้ สังกะสี และเหล็กยื่นต่อจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีผู้เสนอขอซื้อ จำเลยที่ 1 จึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยคำสั่งของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2536 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการหน่วยงานรับผิดชอบดูแลงานโครงการบำบัดน้ำเสียกรุงรัตนโกสินทร์ ค่าจ้างเดือนละ 51,868 บาท วันที่ 21 มิถุนายน 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และวันที่ 30 มีนาคม 2544 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและตั้งบริษัทสยามซินเทค แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้บริหารแผน โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 อ้างว่าทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 6509/2543 เรียกให้จ่ายค่าชดเชยอันเกิดจากการเลิกจ้าง ศาลแรงงานกลางเห็นว่ามูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ชอบที่โจทก์จะไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความโจทก์ไม่ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2545 เพื่อเรียกค่าชดเชยในมูลหนี้เดิมที่เคยฟ้องและศาลสั่งจำหน่ายคดีไปแล้ว ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2545 จำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งที่ 8/2545 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2545 ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามคำร้อง โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2545 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 และพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ รวมทั้งดอกเบี้ยของค่าจ้างช่วงที่โจทก์ยังทำงานกับจำเลยที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 28 กันยายน 2543 แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าชดเชยและดอกเบี้ยของเงินค่าจ้างค้างจ่ายที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เป็นหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ มูลหนี้เกิดขึ้นตั้งแต่โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 ก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2544 ชอบที่โจทก์จะไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 90/26 ต้องห้ามไม่ให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ให้รับผิดเป็นคดีแพ่ง ตามมาตรา 90/12 (4) แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 เข้ามาด้วยก็เพื่อให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 โดยตรง ซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ จึงเป็นฟ้องที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 90/12 (4) หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวโจทก์อุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 8/2545 ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ เห็นว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 8/2545 ของจำเลยที่ 2 ที่สั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามคำร้องนั้น มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 1 ยังไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่านั้น มิได้บังคับโจทก์ให้กระทำหรือไม่กระทำการใด หากโจทก์ไม่ติดใจในค่าชดเชยนั้นต่อไปโจทก์ก็ไม่จำต้องนำคดีไปฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และหากโจทก์ประสงค์จะได้ค่าชดเชยโจทก์ก็สามารถฟ้องคดีขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีคำขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ อันเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานของจำเลยที่ 2 สั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเข้ามาด้วยก็เพื่อที่จะให้โจทก์ได้รับจ่ายค่าชดเชยจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ทำให้คดีนี้ไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้แต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 90/12 (4) ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share