แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกรมมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งย้ายจำเลยไปดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอตรีประจำอำเภอเมือง พร้อมกันนั้นก็ได้สั่งให้จำเลยคงทำงานเป็นผู้ช่วยเสมียนตราจังหวัดอยู่ ณ ที่เก่า มีหน้าที่รับเงินอากรการฆ่าสัตว์ที่อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดนั้นนำส่งแผนกมหาดไทย เพื่อนำฝากคลังตามระเบียบ ผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมมีอำนาจสั่งดังกล่าวได้ และเมื่อจำเลยรับเงินประเภทดังกล่าวนั้นแล้ว นำไปหาผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่นำฝากคลัง ก็ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ตามที่แก้ไข
ย่อยาว
ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นจัตวาอันดับพิเศษสังกัดกรมมหาดไทย เดิมเป็นเสมียนตราจังหวัดพิจิตรมาราว ๑๐ ปีมีหน้าที่รับเงินอากรการฆ่าสัตว์ที่อำเภอต่าง ๆ นำส่งแผนกมหาดไทย เพื่อนำฝากคลังตามระเบียบ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางราชการกำหนดให้เสมียนตราจังหวัดต้องเป็นข้าราชการชั้นตรี จำเลยจึงถูกลดตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเสมียนตราจังหวัดพิจิตร พ.ศ. ๒๕๐๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรมีคำสั่งย้ายจำเลยไปดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอตรีประจำอำเภอเมืองพิจิตร เพื่อว่าเมื่อครบ ๔ ปี จำเลยก็จะได้มีโอกาสเลื่อนเป็นข้าราชการชั้นตรีโดยไม่ต้องสอบ พร้อมกันนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้สั่งให้จำเลยคงทำงานเป็นผู้ช่วยเสมียนตราจังหวัดอยู่ ณ ที่เก่านั้นเอง มีหน้าที่รับฝากเงินดังกล่าว จำเลยรับเงินประเภทอากรฆ่าสัตว์ขององค์การบริหารราชการส่วนจังหวัดพิจิตรซึ่งอำเภอต่าง ๆ นำส่งรวมหลายคราวเป็นเงินทั้งสิ้น ๔๒,๒๘๓ บาท แต่จำเลยนำเงินไปหมุนหาผลประโยชน์เป็นส่วนตัว หาได้นำฝากคลังไม่
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาที่ว่าตามกฎหมายจะถือว่าจำเลยมีตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้ช่วยเสมียนตราจังหวัดหรือไม่ โดยเห็นว่าแม้จำเลยจะได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดอำเภอตรีอำเภอเมืองพิจิตร แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้ช่วยเสมียนตราไปก่อน ตำแหน่งผู้ช่วยเสมียนตรานี้มิได้มีกฎหมายอำนาจหน้าที่ไว้โดยเฉพาะแต่อย่างใด จึงเป็นราชการทั่วไปซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะที่เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด และรับผิดชอบในราชการของจังหวัดและอำเภอตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๓๔ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๑๐ ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยไปปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวแล้วได้
พิพากษายืน