คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2241/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินจะระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยได้ชำระราคาที่ดินให้โจทก์ 70,000 บาทแล้ว แต่โจทก์ก็สามารถนำพยานบุคคลมาสืบถึงข้อตกลงอีกส่วนหนึ่งระหว่างโจทก์ จำเลย และบุคคลภายนอกต่างหากจากสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวว่าได้มีการตกลงในการชำระราคาที่ดินกันอย่างไรได้ หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาซื้อขายที่ดินไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมนางใบ ทิมเที่ยง เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1391 ตำบลดงคู่ อำเภอศรีสัชนาลัยจังหวัดสุโขทัย นางใบเป็นหนี้โจทก์ 70,000 บาท จึงเอาที่ดินดังกล่าวจำนองโจทก์ และนางใบเป็นหนี้นายสอนพ่อตาจำเลย 90,000 บาทแต่ไม่หลักประกัน นางใบไม่สามารถชำระหนี้ได้ โจทก์จำเลย นางใบและนายสอนจึงตกลงกันจะเอาเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาอุตรดิตถ์ โดยจำเลยจะเป็นผู้าขอกู้าจากธนาคารมาใช้หนี้ ถ้าธนาคารอนุมัติก็ให้นางใบโอนขายที่ดินจำนองให้โจทก์ในราคา 70,000 บาท และให้โจทก์ขายที่ดินให้จำเลยในราคา 70,000 บาทและให้จำเลยเอาที่ดินทำจำนองประกันเงินกู้กับธนาคารต่อไป เมื่อจำเลยได้เงินกู้แล้วจำเลยจะนำมาชำระให้โจทก์ 70,000 บาท ต่อมาธนาคารอนุมัติให้จำเลยกู้ได้ ครั้นวันที่ 18 มิถุนายน 2528 นางใบทำสัญญาขายที่ดินให้โจทก์ในราคา 70,000 บาท วันที่ 19 มิถุนายน2528 โจทก์ทำสัญญาขายให้จำเลยและจำเลยทำจำนองต่อธนาคารในวันเดียวกันโดยโจทก์มิได้รับเงินปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้ธนาคารตามระเบียบจะต้องชำระหนี้เก่าให้หมดก่อนจึงจะมีสิทธิกู้ใหม่ จำเลยจึงไม่ได้ชำระหนี้ตามสัญญาให้โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย คิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,322.50 บาท ขอบังคับจำเลยชดใช้เงิน 73,322.50 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นความจริง จำเลยได้ชำระราคาที่ดิน 70,000 บาท ให้โจทก์แล้วในวันทำสัญญาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1391 จำเลยฝากโจทก์ไว้มิได้มอบให้ไปยื่นขอรับเงินจากธนาคาร โจทก์จำเลยไม่มีหนี้ต่อกัน จำเลยเกรงว่าโจทก์จะนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปขอรับเงินจากธนาคารและกลัวจะนำไปใช้อย่างอื่น จึงทวงถามให้คืน แต่ผัดผ่อนเรื่อยมาขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืนจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้รับเงินจากจำเลยจำเลยมอบเอกสารต่าง ๆ ทั้งหมดให้โจทก์ไปยื่นเรื่องราวขอรับเงินจากธนาคาร แต่จำเลยมีหนี้ค้างแก่ธนาคาร ธนาคารจึงไม่จ่ายเงินจำเลยผัดผ่อนเพื่อจะขอชำระหนี้เก่ากับธนาคารและให้โจทก์ยึดหลักฐานดังกล่าวทั้งหมดไว้ เมื่อมีเงินมาชำระหนี้เก่าแล้วจะนำหลักฐานที่อยู่กับโจทก์ไปขอรับเงินที่กู้รายใหม่ เมื่อจำเลยยังไม่ชำระหนี้ให้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเอกสารคืน ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 73,322.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 70,000 บาทนับถัดจากวันฟัองเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เมื่อจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ให้โจทก์ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1391 แก่จำเลย นอกจากที่แก้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “นายวีระ อินทร์โม ซึ่งเป็นพนักงานสินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาอุตรดิตถ์ในขณะนั้นเป็นพยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยมากับโจทก์ขอกู้เงินเพื่อซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจึงอธิบายให้ฟังว่า การกู้เงินไปซื้อที่ดินจะต้องมีเงินสมทบ 20 เปอร์เซ็นต์ จำเลยตกลงจะไปหามาเชื่อได้ว่าโจทก์จำเลยได้ไปยื่นเรื่องราวขอรับเงินต่อธนาคารจริงเพราะจดทะเบียนจำนองไว้ก่อนแล้ว เหลือแต่รับเงินเท่านั้น วงเงินที่ธนาคารให้กู้ถึง 125,000 บาท ก็จริง แต่จำนองใช้เป็นประกันหนี้เงินกู้ได้ไม่เกิน 62,500 บาท ยังไม่พอชำระหนี้โจทก์ ขาดไป7,500 บาท จำเลยจะต้องหาเงินมาสมทบอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ของราคาซื้อขาย 70,000 บาท อีกเป็นเงิน 14,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องหามาเพิ่ม 21,500 บาท เอกสารเรื่องราวต่าง ๆ ตลอดทั้งคำสั่งผู้จัดการธนาคารที่อนุมัติวงเงินอยู่ที่โจทก์ โจทก์ย่อมทราบดีว่าได้เงินกู้ไม่พอใช้หนี้อยู่แล้ว โจทก์จะเรียกเพิ่มอีก30,000 บาท ได้อย่างไร จำเลยยังเบิกความว่า ปัจจุบันจำเลยยังเป็นหนี้ธนาคารประมาณ 50,000-60,000 บาท ถ้าจะกู้อีกต้องใช้หนี้เก่าให้หมดก่อน จึงเชื่อได้ว่าจำเลยหาเงินสมทบไม่ได้ และไม่ชำระหนี้เงินกู้เดิม ธนาคารจึงไม่จ่ายเงินกู้ใหม่ให้ และหากจำเลยชำระเงินค่าที่ดินให้โจทก์จริง จำเลยคงไม่ยอมให้เอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยแก่โจทก์เพื่อไปเบิกเงินจากธนาคารแทนจำเลยตามลำพัง น่าเชื่อว่าโจทก์ยึดถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยไว้เพราะจำเลยตกลงให้โจทก์เก็บไว้รอให้จำเลยนำเงินไปชำระธนาคารก่อนจริง ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์ จำเลย นางใบ และนายสอนตกลงกันเพื่อจะเอาเงินจากธนาคารชำระหนี้ให้โจทก์ โดยให้โจทก์ยอมให้นางใบจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองก่อนแล้วขายให้โจทก์ โจทก์ขายให้จำเลย จำเลยจดทะเบียนจำนองต่อธนาคารโดยจำเลยรับใช้หนี้แทนนางใบให้โจทก์นั้น เป็นข้อตกลงประเภทหนึ่ง ใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์กระทำตามที่ตกลงกันแล้วแต่จำเลยไม่สามารถเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์ได้ จำเลยจึงต้องรับผิดตามที่ตกลงกันและเมื่อจำเลยยังไม่ชำระเงินให้โจทก์ โจทก์จึงยึดหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยได้ เมื่อจำเลยชำระหนี้แล้วให้โจทก์ส่งมอบหนังสือรับรองประโยชน์ดังกล่าวคืนให้จำเลย
ที่จำเลยฎีกาว่า หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินระบุชัดแจ้งว่าจำเลยได้ชำระราคาที่ดินให้โจทก์ 70,000 บาท แล้ว โจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบแก้ไข เปลี่ยนแปลงเอกสารไม่ได้นั้น เห็นว่า การนำสืบของโจทก์ดังกล่าวเป็นการนำสืบถึงข้อตกลงอีกส่วนหนึ่งระหว่างโจทก์จำเลย นางใบ และนายสอนต่างหากจากสัญญาซื้อขายที่ดินว่าได้มีการตกลงในการชำระราคาที่ดินกันอย่างไร จึงหาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาซื้อขายที่ดินไม่ โจทก์ย่อมนำสืบได้…”
พิพากษายืน.

Share