คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2235/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 60วรรคสี่ ที่กำหนดว่า ถ้านายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดชำระตามคำสั่งของอธิบดีจึงจะฟ้องคดีได้นั้น เป็นข้อกฎหมายที่บังคับให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องปฏิบัติเสียก่อน จึงจะฟ้องคดีได้ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ดังนี้แม้มิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นพิพาทแห่งคดี ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางโดยมิได้วางเงินต่อศาลก่อนตามที่กฎหมายกำหนดในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 60 วรรคสี่ เมื่อความข้อนี้ปรากฏในภายหลังศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งใหม่ให้เพิกถอนคำสั่งเป็นไม่รับฟ้องโจทก์ดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯมาตรา 31 แม้คำสั่งศาลดังกล่าวจะเพิกถอนคำสั่งเดิม เมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้โจทก์วางเงินและยื่นฟ้องได้สิ้นสุดลงแล้วและทำให้โจทก์หมดสิทธิ์ ยื่นฟ้องใหม่ก็ตาม แต่การที่โจทก์หมดสิทธิ์ ยื่นฟ้องใหม่นั้น มิใช่เพราะการเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องของศาลแรงงานฯ โดยตรง หากแตก เกิดจากความบกพร่องของโจทก์เองที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้ว ดังนี้โจทก์จะยกเอาความบกพร่องของโจทก์มาอ้างเพื่อให้ศาลขยายกำหนดระยะเวลาการยื่นฟ้องออกไปหาได้ไม่.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่สั่งในฐานะพนักงานเงินทดแทนและคำสั่งของจำเลยที่ 1ที่สั่งในฐานะอธิบดีกรมแรงงาน ซึ่งสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ซึ่งประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้อง หมายเรียกส่งสำเนาฟ้องให้จำเลยและนัดพิจารณาจำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง ในวันนัดสืบพยานโจทก์ความปรากฏต่อศาลแรงงานกลางว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้นำเงินค่าทดแทนที่ถึงกำหนดชำระตามคำสั่งของอธิบดีกรมแรงงานมาวางศาลในวันยื่นฟ้อง เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 60 วรรคสี่ ศาลแรงงานกลางเห็นว่าในกรณีเช่นนี้โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์มาแต่แรกนั้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดพลาด อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลแรงงานกลาง มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับคำฟ้องเสีย แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับคำฟ้องจำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าศาลแรงงานกลางมิได้กำหนดเรื่องการวางเงินตามคำสั่งของอธิบดีกรมแรงงานต่อศาลก่อนฟ้องคดีไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีและปัญหาดังกล่าวมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจหยิบยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยและสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 60 วรรคสี่ที่กำหนดว่า ถ้านายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดชำระตามคำสั่งของอธิบดีจึงจะฟ้องคดีได้นั้น เป็นข้อกฎหมายบังคับให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องปฏิบัติเสียก่อน จึงจะฟ้องคดีได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาหรือประเด็นพิพาทแห่งคดี แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้มิได้กำหนดปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นพิพาทแห่งคดีศาลแรงงานกลางก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องแล้ว ศาลแรงงานกลางจะต้องกำหนดระยะเวลาให้โจทก์วางเงินตามคำสั่งของอธิบดีกรมแรงงาน การที่ศาลแรงงานกลางสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์โดยไม่กำหนดระยะเวลาให้โจทก์นำเงินมาวางเสียก่อนจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 60 วรรคสี่ที่กำหนดให้โจทก์ต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดชำระตามคำสั่งของอธิบดีกรมแรงงานจึงจะฟ้องคดีได้นั้น เป็นข้อที่กฎหมายบังคับว่าโจทก์ต้องกระทำการดังกล่าวเสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีได้เมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมายนั้นเสียก่อนสิทธิในการฟ้องคดีของโจทก์ก็ไม่เกิดขึ้น ศาลจะต้องมีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รับฟ้องของโจทก์ไว้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อต่อมาความปรากฏต่อศาลแรงงานกลางว่าคำสั่งที่ให้รับฟ้องโจทก์นั้นไม่ชอบ ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบนั้นได้ แล้วมีคำสั่งใหม่ให้เป็นไปตามกฎหมายคือไม่รับฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 และกรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีมาตั้งแต่แรกแล้ว ศาลแรงงานกลางจึงไม่อาจกำหนดระยะเวลาให้โจทก์นำเงินมาวางได้อีก ส่วนที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่า ถ้าหากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องเสียแต่แรกโจทก์ก็ยังมีโอกาสนำเงินมาวางแล้วยื่นฟ้องใหม่ภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งของอธิบดีกรมแรงงาน แต่ศาลแรงงานกลางเพิ่งมามาเพิกถอนคำสั่งเดิมแล้วมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องโจทก์เมื่อระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งของอธิบดีกรมแรงงานสิ้นสุดลงแล้ว ทำให้โจทก์หมดสิทธิที่จะนำเงินมาวางและยื่นฟ้องใหม่ คำสั่งของศาลแรงงานกลางจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่าเหตุที่โจทก์หมดสิทธิยื่นฟ้องใหม่นั้นมิใช่เกิดจากการเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเดิมแล้วมีคำสั่งใหม่ไม่รับฟ้องของศาลแรงงานกลางโดยตรง หากแต่เกิดจากความบกพร่องของโจทก์เองที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนแล้ว โจทก์จะยกเอาความบกพร่องของโจทก์มาอ้างเพื่อให้ศาลขยายกำหนดระยะเวลาการยื่นฟ้องออกไปหาได้ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งใหม่ไม่รับฟ้องของโจทก์และจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share