คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2234/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยอุทธรณ์ จำเลยก็เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้แบ่งทรัพย์ระหว่างกันเองก่อน เมื่อไม่สามารถแบ่งได้ ให้ทายาทและจำเลยประมูลกันเอง ถ้าไม่ตกลงกันให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งกันตามส่วน และจำเลยยังมีคำขอท้ายอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์แบ่งทรัพย์โดยวิธีนี้อีก ดังนี้ จำเลยจะอ้างว่าศาลตัดสินนอกคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องไม่ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก เพราะโจทก์ฟ้องเรียกเป็นเงินและให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ไม่ได้
กรณีฟ้องขอแบ่งมรดกเพราะผู้จัดการมรดกไม่แบ่งให้ทายาทตามสิทธิของทายาท มิใช่เป็นเรื่องแบ่งมรดกโดยสัญญา โจทก์ย่อมฟ้องได้โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 2456 จ่าสิบเอกบุญมี สุนทรพันธ์ได้สมรสกับจำเลยโดยต่างไม่มีสินเดิม มีบุตรด้วยกัน 5 คน มีสินสมรสตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง ต่อมาจ่าสิบเอกบุญมีถึงแก่กรรม โดยมิได้ทำพินัยกรรม มีมรดกคิดเป็นเงิน 227,610 บาท

จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ไม่ยอมแบ่งปันมรดกให้แก่นางวรรณะพึ่งปาน ผู้เป็นทายาท นางวรรณะ พึ่งปาน จึงร้องขอให้พนักงานอัยการดำเนินคดีนี้ ขอให้ศาลแบ่งทรัพย์สินตามบัญชีท้ายฟ้องให้แก่นางวรรณะ พึ่งปาน หนึ่งในหกส่วน คิดเป็นเงิน 37,935 บาท ถ้าไม่สามารถแบ่งเป็นเงินได้ ขอให้ขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินให้หนึ่งส่วน เป็นเงิน 37,935 บาท และให้จำเลยเสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินนี้นับแต่วันฟ้องจนชำระเสร็จด้วย

จำเลยให้การว่า จำเลยได้รวบรวมทรัพย์มรดกมีราคารวม 108,516 บาท ไม่ใช่มีราคาตามฟ้อง จำเลยได้จ่ายเป็นค่าทำศพผู้ตายเป็นเงิน 47,625 บาท หักค่าทำศพแล้วคงเหลือเงินในกองมรดก 24,719 บาท ตกได้แก่จำเลยและบุตร 5 คน คนละส่วนเป็นเงิน 4,119.80 บาท จำเลยได้แบ่งให้ลูก ๆ ไปแล้วทุกคน และตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ไม่มีหลักฐานหรือเอกสารใดแสดงสิทธิที่จะฟ้อง โจทก์ฟ้องโดยไม่บอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ก่อน ฟ้องเกินกำหนดอายุความโจทก์ชอบที่จะร้องสอดเข้ามาเมื่อทราบว่ามีคดีฟ้องเรียกมรดกแล้วและจำเลยยังไม่หมดหน้าที่ผู้จัดการมรดก โจทก์ชอบที่จะขอให้ถอนถอนผู้จัดการมรดก ไม่ใช่ฟ้องให้แบ่งทรัพย์

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เมื่อแบ่งสินสมรสตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องให้จำเลยหนึ่งส่วนให้ผู้ตายได้สองส่วนแล้ว ให้หักค่าทำศพ 8,000 บาทออกจากส่วนของผู้ตายซึ่งเป็นมรดก แล้วให้แบ่งเป็น 6 ส่วน ให้นางวรรณะ พึ่งปาน กับจำเลยได้คนละหนึ่งส่วน การแบ่งให้เอาทรัพย์สินดังกล่าวออกแบ่ง ถ้าไม่ตกลงกัน ให้ประมูลระหว่างทายาท ถ้าไม่อาจทำได้ ให้ขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินสุทธิกันตามส่วน ค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องใช้แทนโจทก์ ให้หักออกจากกองมรดกก่อนแบ่ง คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ก่อนจะแบ่งทรัพย์มรดกให้นางวรรณะ พึ่งปาน หนึ่งในหกส่วน ให้หักค่าใช้จ่ายทำศพและอื่น ๆรวม 23,725 บาท แก่จำเลยเสียก่อน นอกจากนี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาข้อกฎหมาย 2 ข้อว่า โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก โจทก์เรียกเป็นเงิน 37,935 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยนั้น เป็นการฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งระหว่างกันเองก่อน เมื่อไม่สามารถแบ่งได้ให้ทายาทและจำเลยประมูลกันเอง ถ้าไม่ตกลงกัน ให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งกันตามส่วน เป็นการตัดสินนอกคำฟ้อง และคำขอท้ายฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยอุทธรณ์จำเลยก็เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในวิธีแบ่งทรัพย์เช่นนี้และจำเลยยังมีคำขอท้ายอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์แบ่งโดยวิธีนี้อีกจำเลยจะมาอ้างว่าศาลตัดสินให้แบ่งเช่นนี้ไม่ชอบอย่างไรได้

ข้อสุดท้าย จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานหรือเอกสารใดแสดงว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1750 วรรค 2 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่ากรณีตามมาตรา 1750 วรรค 2 เป็นเรื่องแบ่งมรดกโดยสัญญา ส่วนกรณีนี้เป็นเรื่องฟ้องขอแบ่งมรดก เพราะจำเลยไม่ยอมแบ่งให้ทายาทตามสิทธิของทายาท โจทก์ย่อมฟ้องได้โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง

พิพากษาแก้เป็นว่า เมื่อแบ่งทรัพย์มรดกตามฟ้องให้นางวรรณะพึ่งปาน ได้รับหนึ่งในหกส่วนนั้น ให้รวมเงิน 7,100 บาท ที่นางวรรณะได้รับไปแล้วอยู่ในส่วนได้หนึ่งในหกส่วนด้วย นอกจากนี้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share