คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2231-2233/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความเป็นกลางและเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่จะเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้แก่คู่พิพาท หากอนุญาโตตุลาการปราศจากเสียซึ่งความเป็นกลางและเป็นอิสระแล้ว คู่พิพาทก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรมและกระบวนการอนุญาโตตุลาการก็จะไม่ได้รับการยอมรับ บทบัญญัตินี้จึงเป็นบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นที่แท้จริงของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 จึงไม่มีเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางและเป็นอิสระของผู้คัดค้านที่ 1 ในการปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 ดังนั้น การที่ผู้ร้องทั้งสามสำนวนอุทธรณ์คัดค้านว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานอนุญาโตตุลาการขาดความเป็นกลางและเป็นอิสระ จึงเป็นการกล่าวอ้างคัดค้านว่าคำสั่งศาลชั้นต้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 45 (2) แห่งพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ลงชื่อโอนหุ้นให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมต้องรู้อยู่ก่อนแล้วว่าหุ้นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 ออกในนามของตนเอง แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะเห็นว่าตนไม่มีส่วนได้เสียในการซื้อหุ้นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ก็มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตนให้คู่พิพาททราบ การที่ผู้คัดค้านไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการขัดต่อหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่อาจทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการรวมทั้งเป็นประธานอนุญาโตตุลาการได้

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกผู้ร้องทั้งสามสำนวนว่า ผู้ร้อง เรียกผู้คัดค้านทั้งสามสำนวนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกคู่กรณีทั้งสามในสำนวนที่ 1 ที่ 2 ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับและเรียกคู่กรณีในสำนวนที่ 3 ว่าผู้คัดค้านที่ 5
ผู้ร้องยื่นคำร้องทั้งสามขอให้ศาลมีคำสั่งยอมรับคำคัดค้านของผู้ร้องโดยให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวของคณะอนุญาโตตุลาการกับให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 พ้นสภาพจากการเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 57/2543 ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2553 และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 34/2543
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านทั้งสามสำนวนเป็นทำนองเดียวกันว่า ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 ได้มีหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในกิจการของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับหนังสือชี้ชวนดังกล่าวด้วย แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ต้องการซื้อหุ้นจึงมอบใบจองซื้อหุ้นให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไป ต่อมาจึงทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้คัดค้านที่ 1 ได้ซื้อหุ้นในกิจการของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 ในนามของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ดีผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้คัดค้านที่ 1 ได้ขายหุ้นดังกล่าวไปตั้งแต่ปี 2538 อันเป็นเวลามากกว่า 5 ปี ก่อนหน้าที่จะมีการแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นอนุญาโตตุลาการและประธานอนุญาโตตุลาการ ทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านที่ 1 เพิ่งทราบในภายหลัง ไม่อยู่ในสถานะที่ผู้คัดค้านที่ 1 จะเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ผู้คัดค้านที่ 1 ทำหน้าที่ในฐานะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทต่างๆ รวมทั้งข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 30/2543 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 36/2544 ด้วยความซื้อสัตย์ สุจริต เป็นกลาง และเป็นอิสระ ไม่มีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับฝ่ายใดมาโดยตลอด เหตุที่คณะอนุญาโตตุลาการร่วมกันวินิจฉัยยกคำคัดค้านของผู้ร้องเนื่องจาก ผู้ร้องไม่ได้แสดงรายละเอียดและหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาชี้ขาดคำคัดค้านภายในระยะเวลาที่คณะอนุญาโตตุลาการกำหนด ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสามสำนวนให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความสำหรับผู้คัดค้านที่ 1 สำนวนละ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 9,000 บาท ค่าทนายความสำหรับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ในสำนวนที่ 1 และที่ 2 รวมกันสำนวนละ 7,500 บาท รวมเป็นเงิน 15,000 บาท และค่าทนายความสำหรับผู้คัดค้านที่ 5 ในสำนวนที่ 3 เป็นเงิน 3,000 บาท
ผู้ร้องทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยประการแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เปิดเผยการถือหุ้นหรือการมอบสิทธิการจองซื้อหุ้นให้แก่ผู้ใกล้ชิดแสดงถึงความไม่สุจริตของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการไม่ชอบและเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางและเป็นอิสระของผู้ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการ ซึ่งการเปิดเผยข้อเท็จจริงเป็นคุณสมบัติและหน้าที่สำคัญของอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 19 ข้อบังคับกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2533 ข้อ 14 ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2546 ข้อ 15 และประมวลจริยธรรมอนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ข้อ 12 และข้อ 14 และโดยที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 19 บัญญัติว่าอนุญาโตตุลาการต้องมีความเป็นกลางและเป็นอิสระและต้องมีคุณสมบัติตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกัน ดังนั้น คุณสมบัติเรื่องความเป็นกลางและความเป็นอิสระนี้จึงเป็นคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนดให้เป็นคุณสมบัติของอนุญาโตตุลาการทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใดหรือได้รับการแต่งตั้งจากผู้ใด นอกจากนี้ คู่พิพาทยังไม่สามารถที่จะทำความตกลงยกเว้นคุณสมบัติเรื่องความเป็นกลางและเป็นอิสระด้วย ทั้งนี้เพราะเมื่ออนุญาโตตุลาการทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทให้แก่คู่พิพาทแล้ว คู่พิพาทจะต้องผูกพันตามคำชี้ขาดนั้น ตามบทบัญญัติ มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 คุณสมบัติของอนุญาโตตุลาการในเรื่องความเป็นกลางและเป็นอิสระจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่จะเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้แก่คู่พิพาท หากอนุญาโตตุลาการปราศจากเสียซึ่งความเป็นกลางและเป็นอิสระแล้ว คู่พิพาทก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรมและกระบวนการอนุญาโตตุลาการก็จะไม่ได้รับการยอมรับ บทบัญญัตินี้จึงเป็นบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย การที่ผู้ร้องทั้งสามสำนวนอุทธรณ์คัดค้านว่าผู้คัดค้านซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานอนุญาโตตุลาการขาดความเป็นกลางและเป็นอิสระ จึงเป็นการกล่าวอ้างคัดค้านว่าคำสั่งศาลชั้นต้นขัดต่อหลักการพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมในการที่บุคคลจะทำหน้าที่วินิจฉัยและตัดสินข้อพิพาท อันขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องด้วยข้อยกเว้นให้อุทธรณ์ได้ตามมาตรา 45 (2) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสามสำนวนจึงไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
ประการต่อมามีว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะประธานอนุญาโตตุลาการขาดคุณสมบัติเรื่องความเป็นกลางและเป็นอิสระหรือไม่ ได้ความจากผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความเป็นพยานว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับใบจองซื้อหุ้นของบริษัทผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้เข้าจองซื้อหุ้นเพราะเล่นหุ้นไม่เป็นจึงมอบใบจองซื้อหุ้นให้แก่นางสาวจิตรสุดาซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา โดยได้ลงลายมือชื่อในใบจองซื้อหุ้นด้วย และตอบคำถามผู้ร้องทั้งสามสำนวนว่า ภายหลังจากที่พยานมอบใบจองซื้อหุ้นให้แก่นางสาวจิตรสุดาแก้ว ไม่ทราบว่ามีการออกใบหุ้นในชื่อของพยาน พยานไม่เคยเซ็นรับทราบเกี่ยวกับเรื่องการออกใบหุ้นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 นางสาวจิตรสุดาพยานผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความว่า พยานเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้คัดค้านที่ 1 มานานกว่า 14 ปี ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เคยเล่นหุ้นและไม่สนใจเล่นหุ้น เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับใบจองซื้อหุ้นบริษัทผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเสนอมาให้แก่พนักงานอัยการตามตำแหน่งนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่สนใจแต่พยานสนใจจะซื้อ จึงขอใบจองซื้อหุ้นจากผู้คัดค้านที่ 1 และพยานทราบจากเจ้าหน้าที่ที่นำใบจองซื้อหุ้นมาเสนอว่าเป็นการเสนอใบจองซื้อหุ้นให้ตามตำแหน่ง ในการซื้อหุ้นจึงต้องซื้อในนามผู้คัดค้านที่ 1 โดยพยานชำระค่าหุ้นเป็นเช็ค 2 ฉบับ เอกสารหมาย ค.38 และตอบคำถามค้านผู้ร้องทั้งสามสำนวนว่า พยานเคยเห็นใบหุ้นบริษัทผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 ที่ออกในนามผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งหลังจากออกใบหุ้นแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 เซ็นโอนหุ้นให้พยาน โดยผู้คัดค้านที่ 1 ทราบว่าพยานซื้อหุ้นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 ตั้งแต่ที่พยานไปขอใบจองซื้อหุ้นแล้ว เข้าใจว่าผู้คัดค้านที่ 1 ทราบว่าหุ้นออกในชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อได้รับใบหุ้นแล้ว เห็นว่า เช็คเอกสารหมาย ค.38 ฉบับหนึ่งระบุจำนวนเงิน 795,000 บาท และอีกฉบับหนึ่งระบุจำนวนเงิน 410,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 ทราบว่านางสาวจิตรสุดามีความสนใจซื้อหุ้นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 เพราะเป็นผู้มอบใบจองซื้อหุ้นให้เอง ต่อมาเมื่อมีการซื้อหุ้นแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 ก็ทราบดีเพราะนางสาวจิตรสุดาเป็นผู้มาขอให้ผู้คัดค้านที่ 1 เซ็นชื่อโอนหุ้นให้ ผู้คัดค้านที่ 1 จึงรู้อยู่ก่อนแล้วว่าหุ้นบริษัทผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 ที่นางสาวจิตรสุดาจองซื้อมานั้นได้ออกในนามของผู้คัดค้านที่ 1 หาใช่เพิ่งจะรู้ภายหลัง ดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 กล่าวอ้างไม่แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะเห็นว่าตนไม่มีส่วนได้เสียในการซื้อหุ้นของนางสาวจิตรสุดา แต่ผู้คัดค้านที่ 1 มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตนให้คู่พิพาททราบ การที่ผู้คัดค้านไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการขัดต่อหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ข้อคัดค้านของผู้ร้องทั้งสามสำนวนจึงมีน้ำหนักฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ขาดคุณสมบัติของอนุญาโตตุลาการในเรื่องความเป็นอิสระย่อมไม่อาจทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการรวมทั้งเป็นประธานอนุญาโตตุลาการได้แม้ผู้ร้องทั้งสามสำนวนจะมีคำขอท้ายคำร้องให้ผู้คัดค้านที่ 1 พ้นสภาพจากการเป็นประธานอนุญาโตตุลาการ แต่ก็หมายถึงว่าผู้ร้องทั้งสามสำนวนต้องการให้ผู้คัดค้านที่ 1 พ้นจากการเป็นอนุญาโตตุลาการนั่นเอง ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาคณะคดีปกครองไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสามสำนวนฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ความเป็นอนุญาโตตุลาการของผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 57/2543 ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2543 และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 34/2543 สิ้นสุดลง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้และในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ

Share