แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หนี้ภาษีอากรที่เป็นภาษีอากรค้าง อธิบดีกรมสรรพากรผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขอให้ศาลออกหมายยึดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 และมาตรา 30แต่ต้องดำเนินการภายใน 10 ปี นับแต่วันที่เกิดสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินในวันที่ 31 สิงหาคม 2530 จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินการที่กรมสรรพากรโจทก์นำหนี้ภาษีอากรค้างมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 เป็นการล่วงเลยระยะเวลาที่โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้แล้ว ส่วนการที่จำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนเป็นเพียงขั้นตอนในการบังคับชำระหนี้และวิธีการในการชำระหนี้เท่านั้น ไม่มีผลทำให้ระยะเวลาในการบังคับชำระหนี้ขยายออกไป โจทก์หมดสิทธิในการบังคับชำระหนี้แล้วจึงไม่อาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ใช่บุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยคู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยและภริยาเปิดร้านอาหารชื่อร้าน “ยิ้มยิ้ม” และร้าน”ไก่บ้าน” โจทก์ตรวจสอบภาษีการค้าของจำเลยช่วงปี 2529 และปี 2530 พบว่าจำเลยเสียภาษีการค้าไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีการค้าของจำเลยใหม่พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาล เป็นเงินภาษีอากรรวม 52,002บาท ตามแบบแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 และแจ้งให้จำเลยชำระภาษีอากรดังกล่าวภายใน 30 วัน จำเลยทราบการประเมินดังกล่าวแล้วไม่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินวันที่ 31 สิงหาคม 2530 จำเลยมีหนังสือถึงนายอำเภอเมืองระยองขอผ่อนชำระค่าภาษีอากรเดือนละ 1,200 บาท ตามเอกสารหมายจ.5 โจทก์อนุญาตให้จำเลยผ่อนชำระภาษีไปพลางก่อนในระหว่างการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยเพื่อดำเนินการยึดอายัด ตามเอกสารหมาย จ.6 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยชำระหนี้ภาษีอากรให้โจทก์ 457 บาท ส่วนหนี้ภาษีอากรค้างที่เหลือจำเลยไม่ชำระอีกเลย โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยนำเงินภาษีอากรค้างไปชำระส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยตามฟ้องแล้วโดยวิธีปิดหนังสือทวงถามไว้ที่บริเวณหน้าบ้านจำเลยเมื่อวันที่ 22มกราคม 2541 และวันที่ 5 มีนาคม 2541 จำเลยยังคงเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ โจทก์ตรวจสอบบัญชีเงินฝากของจำเลยไปยังธนาคารต่าง ๆ ในเขตจังหวัดชลบุรีไม่พบว่าจำเลยมีบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารใด ๆ และโจทก์ตรวจสอบทรัพย์สินจำพวกที่ดินในเขตจังหวัดชลบุรีก็ไม่พบว่าจำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยได้ปิดกิจการร้านอาหารทั้งสองแห่งดังกล่าวแล้ว กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นก่อนว่า โจทก์ยังมีสิทธิบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวหรือไม่ ปัญหานี้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นโต้เถียงโดยตรง แต่เมื่อในการพิจารณาคดีล้มละลายนั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้บุคคลใดล้มละลายย่อมมีผลกระทบถึงความสามารถ สถานะ และทรัพย์สินของบุคคลนั้นทั้งในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14ให้ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง กรณีจึงถือว่าพระราชบัญญัติล้มละลายฯเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาถึงประเด็นดังกล่าวได้ ในมูลหนี้ภาษีตามฟ้องปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีการค้าให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน ถือว่าเป็นหนี้ภาษีอากรค้าง อธิบดีกรมสรรพากร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรโดยไม่ต้องขอให้ศาลออกหมายยึดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 และมาตรา 30 ในการบังคับชำระหนี้ โจทก์ต้องดำเนินการภายใน 10 ปี นับแต่วันที่เกิดสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าว ตามคำเบิกความของพยานโจทก์แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินซึ่งลงวันที่ 30มิถุนายน 2530 ตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 ในวันใดแต่ว่าที่ร้อยตรีโสภณ ศรีธนชัย พยานโจทก์เบิกความว่า หลังจากเจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินภาษีการค้าตามเอกสารหมายจ.2 หรือ จ.4 ให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2530จำเลยติดต่อขอผ่อนชำระหนี้ดังกล่าว จึงแสดงว่าจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินก่อนหรือภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2530 เมื่อจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน โจทก์สามารถเริ่มต้นดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อชำระหนี้ภาษีอากรค้างได้เมื่อล่วงเลยระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันดังกล่าวการที่โจทก์นำหนี้ภาษีอากรค้างมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 นั้น เป็นการล่วงเลยระยะเวลาที่โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้แล้ว ส่วนการที่จำเลยได้ขอผ่อนชำระหนี้และชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนภายในกำหนดเวลาที่โจทก์ยังมีสิทธิบังคับชำระหนี้นั้นก็เป็นเพียงขั้นตอนในการบังคับชำระหนี้และวิธีการในการชำระหนี้เท่านั้น มิได้มีผลทำให้ระยะเวลาในการบังคับชำระหนี้ของโจทก์ขยายออกไปแต่อย่างใด เมื่อหนี้ภาษีอากรค้างที่โจทก์นำมาฟ้องนั้น โจทก์หมดสิทธิในการบังคับชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายได้”
พิพากษายืน