คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2230/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้กระทำในช่วงเวลาที่โจทก์ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์ไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ24 ดังนั้นการซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 113(เดิม)ไม่มีผลบังคับ
การซื้อขายที่ดินพิพาทก่อนโจทก์มีสถานะเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ไม่อาจฟังว่ามีการซื้อขายที่ดินพิพาท
คดีแพ่ง การยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้เป็นการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ จำเลยจะต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความเพราะเหตุใด จำเลยให้การแต่เพียงว่า โจทก์จะต้องเรียกร้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือภายในกำหนด 10 ปี นับแต่เวลาสิทธินั้นได้มีขึ้นฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โดยมิได้แสดงให้ชัดแจ้งว่าคดีขาดอายุความเรื่องอะไรและเพราะเหตุใด คำให้การของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 177 วรรคสองที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาเรื่องอายุความ จึงชอบแล้ว
การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองตามป.พ.พ.มาตรา 1382 จะต้องแสดงอาการยึดถือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อตนจริง ๆ โดยสงบและโดยเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ลำพังการมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดและการเสียภาษีบำรุงท้องที่ย่อมมิใช่เป็นการครอบครองที่ดิน
ที่ดินที่พิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 102174 แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นโฉนดเลขที่ 102175 ก็เนื่องจากการพิมพ์ผิดพลาดจากเลข 4 เป็นเลข 5 มาแต่แรก จึงเป็นข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย ดังนี้ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจแก้ไขได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 143 วรรคแรก กรณีหาใช่โจทก์นำสืบแตกต่างกับฟ้องหรือจำเลยหลงต่อสู้แต่อย่างใดไม่

Share