แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 32(2)(4)ให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศกำหนดมิให้ใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาดและกำหนดวิธีใช้เครื่องมือทำการประมงต่าง ๆ เมื่อรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดเครื่องมือทำการประมงโดยห้ามมิให้ใช้เครื่องมืออวนลากชนิดมีถุงและเครื่องมืออวนรุนหรืออวนถุงทุกขนาดที่ใช้เรือยนต์ทุกชนิดทำการประมงในเขตหรือรัศมีที่ระบุไว้ในการจับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาดเรือยนต์ของกลางที่ใช้ทำการประมงในเขตดังกล่าวที่ใช้กับอวนรุนชนิดมีถุงจึงเป็นเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามใช้ตามมาตรา 32(2) และ 70 จึงต้องริบตามมาตรา 70 กรณีหาอยู่ในบังคับของมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 2พ.ศ. 2496 มาตรา 10 ที่ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ใช้เรือยนต์ที่มิได้รับใบอนุญาตให้ใช้เรือตามกฎหมายออกจับปลาในท้องทะเลหลวงซึ่งเป็นน่านน้ำไทยและเป็นผู้ควบคุมเรือยนต์และเครื่องจักรเรือยนต์ดังกล่าว โดยมิได้รับประกาศนียบัตรแสดงความรู้อันถูกต้องตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้ออกประกาศลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2507โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติการประมงพ.ศ. 2490 กำหนดห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดใช้เครื่องมืออวนลากชนิดมีถุงและเครื่องมืออวนรุน “ละวะ” ชิบหรือรุนกุ้งรุนเคยหรืออวนถุงทุกชนิด และทุกขนาดที่ใช้เรือยนต์ทุกชนิดทำการประมงในเขตระยะ 1,000 เมตร(25 เส้น) นับจากขอบน้ำตามแนวชายฝั่งทะเลขณะที่ทำการประมงและในเขตรัศมี 200 เมตร (5 เส้น) นับออกไปจากอาณาเขตที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ทุกชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงในทะเลหรือในอ่าวในท้องที่จังหวัดชายทะเลทุกจังหวัดโดยเด็ดขาดปรากฏตามสำเนาประกาศท้ายฟ้อง จำเลยทั้งสองได้ทราบประกาศนั้นแล้วบังอาจร่วมกันใช้เครื่องมืออวนรุนชนิดมีถุงที่ใช้กับเรือยนต์ลำดังกล่าวทำการประมงในทะเลชายฝั่งห่างจากฝั่งอำเภอยะหริ่งประมาณ 300 เมตรซึ่งเป็นที่จับสัตว์น้ำประเภทที่สาธารณประโยชน์อันอยู่ในเขตหวงห้ามที่กำหนดไว้ตามประกาสดังกล่าว เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมเรือยนต์ 1 ลำ อวนรุน 1 ถุง อันเป็นเครื่องมือทำการประมงที่ใช้ในการกระทำผิด กับกุ้ง 10 กิโลกรัม และลูกปลา 20 กิโลกรัม อันเป็นสิ่งที่ได้มาโดยการกระทำความผิดเป็นของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 277, 278, 282พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477มาตรา 3 ปรับ 300 บาท และตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2481 มาตรา 5, 9 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 50ข้อ 1 ข้อ 2 ปรับ 400 บาท และจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 6, 32, 60, 65, 69, 70, 71พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 มาตรา 10 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 400 บาท จำเลยที่ 2 อายุ 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว ปรับ 200 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,100 บาท จำเลยทั้งสองรับสารภาพลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 550 บาท ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 100 บาท ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับคนละ 200 บาทและ 100 บาทตามลำดับ ถ้าจำเลยไม่เสียค่าปรับหรือเงินบำเหน็จให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าไม่ควรริบเรือของกลาง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าเรือของกลางอยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา 69แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจริบหรือไม่ริบเรือของกลางก็ได้ จึงไม่ควรริบ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงเกษตรเรื่องกำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนลาก และอวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมงท้ายฟ้องนั้นได้ออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 32 (2)(4) ซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศกำหนดมิให้ใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด และกำหนดวิธีใช้เครื่องมือทำการประมงต่าง ๆ เมื่อรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามมิให้ใช้เครื่องมืออวนลากชนิดมีถุงและเครื่องมืออวนรุนหรืออวนถุงทุกขนาดที่ใช้เรือยนต์ทุกชนิดทำการประมงในเขตหรือรัศมีที่ระบุไว้ในการจับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาดตามประกาศนั้นแล้วเรือยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ทำการประมงในเขตดังกล่าวโดยใช้กับอวนรุนชนิดมีถุงจึงเป็นเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมง ตามมาตรา 32(2) และมาตรา 70 เพราะเป็นเครื่องมือทำการประมงที่กำหนดห้ามใช้ไว้ให้รู้ ผู้ใดจะใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำภายในเขตหรือรัศมีที่ห้ามไว้มิได้เลย เรือยนต์ของกลางจึงต้องริบตามมาตรา 70 กรณีหาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจริบหรือไม่ริบเรือยนต์ของกลางก็ได้ดังที่จำเลยฎีกาไม่
พิพากษายืน