คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2230/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ก่อนที่เรือบรรทุกสินค้าจะมาถึงประเทศไทย จำเลยได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์แจ้งกำหนดเวลาที่เรือจะเข้าเทียบท่า ทำการติดต่อกับกรมเจ้าท่า ติดต่อกรมศุลกากร และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อขออนุญาตนำเรือเข้าเทียบท่า ครั้นเมื่อเรือบรรทุกสินค้ามาถึงประเทศไทยจำเลยได้ติดต่อว่าจ้างขนถ่ายสินค้าลงจากเรือสินค้าแจ้งให้ผู้รับตราส่งทราบว่าสินค้าได้มาถึงประเทศไทยแล้ว และรับใบตราส่งจากผู้ซื้อ แล้วออกใบปล่อยสินค้าให้แก่ผู้สั่งซื้อเพื่อนำไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในกรณีที่จะมีการส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศโดยเรือของบริษัทเจ้าของเรือจำเลยจะเป็นผู้ออกใบตราส่งให้ โดยใช้แบบฟอร์มเดียวกันกับใบตราส่งของบริษัทดังกล่าว ในการดำเนินกิจการของจำเลยดังกล่าวนี้จำเลยได้รับประโยชน์ตอบ แทนโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ จากค่าระวางการดำเนินกิจการของจำเลยดังกล่าวแม้บางอย่างจะกระทำการแทนผู้ขนส่งต่างประเทศ แต่ก็เป็นการเข้าลักษณะร่วมกันทำการขนส่งกับผู้ขนส่งต่างประเทศซึ่งเป็นเจ้าของเรือ และเป็นการขนส่งหลายทอดโดยจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย ซึ่งต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา618 ลักษณะ 8 เรื่องรับขนในฐานะที่เป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสาม การที่ผู้ส่งสินค้ายอมรับใบตราส่งไปจากผู้ขนส่งนั้นจะถือว่าผู้ส่งได้ตกลงด้วยชัดแจ้งกับข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในใบตราส่งไม่ได้ ข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงตก เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 625

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยทางทะเลให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดโอบีรอนอิมปอร์ต เอ็กซปอร์ต สำหรับชิ้นส่วนเครื่องยนต์2 หีบห่อเป็นเงิน 817,636.46 บาท ต่อมาสินค้าดังกล่าวได้ขาดหายไปเป็นเงิน 780,288.48 บาท จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งร่วมต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับตราส่งไปแล้ว ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 833,933.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 780,288.48 บาท นับจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ร่วมทำการขนส่งกับบริษัทแปซิฟิคอินเตอร์เนชั่นแนลไลน์ (พีทีอี) จำกัด หรือรับจ้างทำการขนส่งจากบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยเป็นเพียงตัวแทนเท่านั้นสินค้ามิได้ขาดหายไปดังจำนวนที่โจทก์ฟ้อง จำเลยเป็นเพียงคนกลางช่วยติดต่อเท่านั้น ในการส่งสินค้านี้ได้มีข้อตกลงระหว่างผู้ส่งสินค้ากับบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนลไลน์ (พีทีอี) จำกัดไว้ว่า ในกรณีที่สินค้าเกิดการสูญหายหรือเสียหายขึ้น ผู้ขนส่งจะรับผิดไม่เกิน 100 ปอนส์สเตอร์ลิ่ง ต่อ 1 หีบห่อ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องไม่เกินจำนวนดังกล่าว ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับดอกเบี้ยเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์702,259.59 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2525 จนถึงวันชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแลไลน์ (พีทีอี) จำกัด เท่านั้น มิได้เป็นผู้ทำการขนส่งร่วมหรือเป็นผู้ขนส่งต่อจากบริษัทดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องร่วมรับผิด พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความรวม5,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดโอบีรอน อิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต ซึ่งอยู่ในประเทศไทยได้สั่งซื้อเครื่องอะไหล่รถยนต์จากบริษัทผู้ขายซึ่งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ บริษัทผู้ขายได้ว่าจ้างให้บริษัทแปซิฟิคอินเตอร์เนชั่นแนลไลน์ (พีทีอี) จำกัด เป็นผู้ขนส่งสินค้าจากประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทย เป็นสินค้าจำนวน 2 หีบห่อ โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดโอบีรอน อิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต ได้เอาประกันภัยสินค้ารายนี้ไว้กับริษัทโจทก์ ครั้นเมื่อสินค้าดังกล่าวมาถึงท่าเรือกรุงเทพน ปรากฏว่าหีบห่อบรรจุสินค้าฉีกขาดทั้ง 2หีบห่อ สินค้าขาดหายไปจากจำนวนที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้า โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้สั่งซื้อไปแล้ว ปัญหาวินิจฉัขข้อแรกที่ว่า จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนที่เรือบรรทุกสินค้าจะมาถึงประเทศไทย จำเลยได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์แจ้งกำหนดเวลาที่เรือจะเข้าเทียบเท่าทำการติดต่อกับกรมเจ้าท่า ติดต่อกรมศุลกากรและการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อขออนุญาตนำเรือเข้าเทียบท่า ครั้นเมื่อเรือบรรทุกสินค้ามาถึงประเทศไทย จำเลยได้ติดต่อว่าจ้างขนถ่ายสินค้าลงจากเรือสินค้า แจ้งให้ผู้รับตราส่งทราบว่าสินค้าได้มาถึงประเทศไทยแล้วและรับใบตราส่งจากผู้สั่งซื้อแล้วออกใบปล่อยสินค้าให้แก่ผู้สั่งซื้อ เพื่อนำไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยในกรณีที่จะมีการส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศโดยเรือของบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนลไทย(พีทีอี) จำกัด จำเลยจะเป็นผู้ออกใบตราส่งให้ โดยใช้แบบฟอร์มเดียวกันกับใบตราส่งของบริษัทดังกล่าวในการดำเนินกิจการของจำเลยดังกล่าวนี้จำเลยได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากค่าระวาง เช่นนี้เห็นว่า การดำเนินกิจการของจำเลยดังกล่าวแม้บางอย่างจะกระทำการแทนผู้ขนส่งต่างประเทศ แต่ก็เป็นการเข้าลักษณะร่วมกันทำการขนส่งกับผู้ขนส่งต่างประเทศซึ่งเป็นเจ้าของเรือและเป็นการขนส่งหลายทอดโดยจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย ในกรณีที่มีการขนส่งหลายทอดเช่นนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา618 ซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงกับกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางทะเลได้บัญญัติไว้ว่า “ถ้าของนั้นได้ส่งไปโดยมีผู้ขนหลายคนหลายทอดท่านว่าผู้ขนส่งทั้งนั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในทางสูญหาย บุบสลายหรือส่งชักช้า” ฉะนั้นเมื่อมีสินค้าสูญหายไปในระหว่างการขนส่งจำเลยต้องรับผิดในการสูญหายนั้นด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น เนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลย ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะวินิจฉัยไปเลยทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวน
ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปก็คือ สินค้าได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งหรือไม่ จำเลยยอมรับอยู่แล้วว่า เมื่อสินค้าดังกล่าวมาถึงท่าเรือกรุงเทพนั้นหีบห่อฉีกขาดทั้ง 2 หีบห่อ แต่จำเลยอ้างว่าไม่ต้องรับผิดเพราะสินค้าบรรจุมาไม่ครบ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่หีบห่อบรรจุสินค้าเกิดชำรุดฉีกขาดขึ้นในระหว่างการขนส่งและสินค้าขาดจำนวนไปจากใบกำกับสินค้าเช่นนี้ จำเลยจะอ้างว่าสินค้าบรรจุมาไม่ครบถ้วนนั้นเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าตามใบตราส่งได้จำกัดความรับผิดไว้ว่า เมื่อเกิดการเสียหายขึ้นผู้ขนส่งจะรับผิดไม่เกิน 100 ปอนด์สเตอร์ลิง ต่อ1 หีบห่อนั้นเห็นว่า ถึงแม้ตามใบตราส่งจะมีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดไว้ ก็ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 625 เพราะไม่ปรากฏว่าผู้ส่งสินค้ารายนี้ได้แสดงความตกลงยินยอมไว้โดยชัดแจ้งเกี่ยวกับข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดนั้นด้วยและการที่ผู้ส่งสินค้ายอมรับใบตราส่งไปจากผู้ขนส่งนั้น จะถือว่าเป็นการตกลงยินยอมในข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดตามใบตราส่งหาได้ไม่ ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม14,000 บาท”

Share