คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2229/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ ท. เจ้าของที่ดินเดิมยินยอมให้ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ อันเป็นกรณี ที่โจทก์ได้ภารจำยอมโดยทางนิติกรรมก็ตาม แต่เมื่อ ยังมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาย่อม ไม่บริบูรณ์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่งและคงใช้บังคับได้ในฐานะบุคคลสิทธิเฉพาะโจทก์กับท.ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น แต่ไม่มีผลผูกพันบุคคลภายนอกด้วยเมื่อ ท. ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยถือว่าจำเลยเป็นบุคคลภายนอก ทั้งในเรื่องให้ หาได้มีบทบัญญัติให้ผู้รับต้องรับหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ให้ไปด้วยอย่างกรณีทายาทรับมรดกไม่ ความยินยอมดังกล่าวจึงไม่มี ผลผูกพันให้จำเลยต้องจดทะเบียนภารจำยอมหรือเปิดทางพิพาท แก่โจทก์ การที่กรมชลประทานให้ราษฎรรื้อสะพานข้ามคลองสาธารณะ เมื่อมีการขุดลอกคลองเนื่องจากสะพานดังกล่าว กีดขวางการขุดลอกคลอง หาใช่กรมชลประทานห้ามราษฎร ใช้เป็นทางสัญจรทางน้ำไม่ คลองนั้นจึงยังเป็นทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349,1350 และการที่ราษฎรมิได้ใช้คลองนั้นเป็นทางสัญจรทางน้ำ เนื่องจากไม่สะดวกเท่าการสัญจรทางบก ก็หาได้ทำให้ คลองนั้นสิ้นสภาพการเป็นทางสาธารณะไปไม่ ที่ดินของโจทก์อยู่ติดคลองซึ่งเป็นทางสาธารณะ อยู่แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วลวดหนามที่กั้นทางเข้าออกและจดทะเบียนภารจำยอมหรือให้เปิดทางจำเป็นกว้าง 5 เมตร ยาว 40 เมตรในที่ดินของจำเลยแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ 43
จำเลยให้การว่า มารดาจำเลยไม่เคยตกลงให้โจทก์ใช้ทางในที่ดินพิพาท รวมทั้งไม่เคยสัญญาว่าจะจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินดังกล่าว ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้อยู่แล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อปี 2527 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเนื้อที่ 100 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 5243 ตำบลไทรใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี จากนางทองดี คำศรี มารดาจำเลย ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2533 นางทองดียกที่ดินส่วนของตนในที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลย จำเลยรังวัดแบ่งแยกเป็นที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 42 และ 43 โดยด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 42 ติดคลองหม่อมเจิมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 43ติดถนนซึ่งเป็นทางสาธารณะทางพิพาทอยู่ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 43 จำเลยจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 42 ให้โจทก์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2535 ต่อมาปี 2536 จำเลยล้อมรั้วลวดหนามรอบแนวเขตที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 43
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่านางทองดียินยอมให้ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ หากใช่ ความยินยอมดังกล่าวมีผลผูกพันจำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้จะฟังว่านางทองดียินยอมให้ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ อันเป็นกรณีที่โจทก์ได้ภารจำยอมโดยทางนิติกรรม เมื่อยังมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การได้มาจึงไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง คงใช้บังคับได้ในฐานะบุคคลสิทธิเฉพาะโจทก์กับนางทองดีซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันบุคคลภายนอกด้วย เมื่อนางทองดียกที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลย ถือว่าจำเลยเป็นบุคคลภายนอกที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเป็นบุตรนางทองดีต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของนางทองดีนั้น เห็นว่า ในเรื่องให้หาได้มีบทบัญญัติให้ผู้รับต้องรับหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ผู้ให้ไปด้วยอย่างกรณีทายาทรับมรดกไม่ ความยินยอมดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย ไม่อาจบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมหรือเปิดทางพิพาทโดยอาศัยเหตุนี้ได้ คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า นางทองดียินยอมให้ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่าคลองหม่อมเจิมเป็นทางสาธารณะตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349, 1350 หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า คลองหม่อมเจิมอยู่ในความดูแลของกรมชลประทานไม่มีเรือแล่นมาเกือบ 20 ปีแล้ว ทำนองว่าไม่ใช่ทางสาธารณะนั้นเห็นว่า แม้คลองหม่อมเจิมจะอยู่ในความดูแลของกรมชลประทานแต่ทางนำสืบของโจทก์เองก็ได้ความตามคำเบิกความของนายสำราญ นามนิล ว่า คลองหม่อมเจิมเป็นคลองสาธารณะเพียงแต่ปัจจุบันไม่มีผู้ใดใช้เป็นทางสัญจรเท่านั้น จึงเจือรับกับคำเบิกความของนายหยุด รุ่งแสง พยานจำเลยว่า พยานเคยใช้คลองหม่อมเจิมเป็นทางเข้าออก ส่วนที่กรมชลประทานให้ราษฎรรื้อสะพานที่ทำข้ามคลองเมื่อมีการขุดลอกคลอง น่าจะเนื่องจากสะพานดังกล่าวกีดขวางการขุดลอกหาใช่กรมชลประทานห้ามราษฎรใช้คลองหม่อมเจิมเป็นทางสัญจรทางน้ำไม่คลองหม่อมเจิมจึงเป็นทางสาธารณะตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349, 1350 การที่ปัจจุบันราษฎรมิได้ใช้เป็นทางสัญจรทางน้ำ เนื่องจากไม่สะดวกเท่าการสัญจรทางบก หาได้ทำให้คลองหม่อมเจิมสิ้นสภาพการเป็นทางสาธารณะไปไม่ เมื่อที่ดินของโจทก์อยู่ติดคลองหม่อมเจิมซึ่งเป็นทางสาธารณะอยู่แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้อีก
พิพากษายืน

Share