แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ พ.ศ. 2534 มิได้มีบทบัญญัติใดบังคับว่าก่อนฟ้องคดีต่อศาลพนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องดำเนินการร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ และอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสียก่อน บทบัญญัติมาตรา 11(3)และมาตรา 18(2) เป็นเพียงแต่กำหนดไว้ว่าคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคำร้องทุกข์ของพนักงาน (หากมีการร้องทุกข์) และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของพนักงานที่อุทธรณ์ขึ้นมาเท่านั้น ดังนี้ แม้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจฟ้องคดีโดยไม่ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์และอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสียก่อน โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2534คณะกรรมการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างประจำปีงบประมาณ2534 ของจำเลย ได้มีมติเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ 1 ขั้นจากชั้นที่ 25 อัตราเงินเดือน 11,880 บาท เป็นชั้นที่ 26อัตราเงินเดือน 12,570 บาท แต่จำเลยไม่มีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ตามมติของคณะกรรมการดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบองค์การทอผ้า ขอให้บังคับจำเลยเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ2534 เป็นชั้นที่ 26 อัตราเงินเดือน 12,570 บาท และให้จ่ายย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2534 ให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเพียงแต่ชะลอการเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ เนื่องจากรอผลการสอบสวนกรณีที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท หากผลการสอบสวนปรากฏว่าโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยจะออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนย้อนหลังให้โจทก์จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ มูลคดีที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับเงินเดือนค่าจ้างตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับได้กำหนดให้รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน หากรับฟังได้ว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะยังไม่ได้ร้องทุกข์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ และยังไม่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ขอให้ยกฟ้อง
อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันว่า โจทก์ไม่เคยร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์และคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ก่อนนำคดีมาฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยประเด็นที่ว่า โจทก์ต้องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์และคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ก่อนนำคดีมาฟ้องหรือไม่จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นนี้เสียก่อนพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเสียก่อนแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์รักษาการหัวหน้าฝ่ายทอผ้าจึงเป็นฝ่ายบริหาร ไม่ต้องร้องทุกข์ ก่อนนำคดีมาฟ้องศาล แล้วพิพากษาใหม่ให้จำเลยเลื่อนขั้นเงินเดือนโจทก์จากชั้นที่ 25 อัตราเงินเดือน 11,880 บาท เป็นชั้นที่ 26 อัตราเงินเดือน 12,570 บาทตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไป
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ประเด็นตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้รักษาการหัวหน้าฝ่ายทอผ้าของจำเลยเป็นฝ่ายบริหารหรือไม่ และเมื่อโจทก์ยังไม่ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์และยังไม่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสียก่อน โจทก์จะมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534มิได้มีบทบัญญัติบังคับไว้ว่า ก่อนฟ้องคดีต่อศาลพนักงานของรัฐวิสาหกิจจะต้องดำเนินการร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์และต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสียก่อนแต่อย่างใดเพียงแต่กำหนดไว้ในมาตรา 11(3) และมาตรา 18(2) ให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคำร้องทุกข์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ (หากมีการร้องทุกข์) และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่อุทธรณ์ผลการพิจารณาคำร้องทุกข์ เท่านั้นฉะนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์และอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าวเสียก่อนก็มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ โดยมิต้องคำนึงว่าโจทก์จะเป็นฝ่ายบริหารของจำเลยหรือไม่ ฉะนั้นประเด็นที่ว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้รักษาการหัวหน้าฝ่ายทอผ้าของจำเลยเป็นฝ่ายบริหารของจำเลยหรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดีที่จะต้องยกขึ้นวินิจฉัย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ต้องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการดังกล่าวก่อนฟ้องคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน