คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2226/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าปรับให้แก่โจทก์การที่โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินค่าปรับจำนวนดังกล่าวมาชำระให้แก่โจทก์ภายใน15วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้นโดยจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่30พฤศจิกายน2535ถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์แจ้งจำเลยเช่นนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นนิติกรรมกำหนดการนับระยะเวลาเป็นอย่างอื่นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/1การนับระยะเวลา15วันในกรณีนี้จึงต้องนับตามมาตรา193/3วรรคสองซึ่งห้ามมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกันเว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณีเมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยได้รับหนังสือตั้งแต่เวลาใดจึงถือไม่ได้ว่าได้เริ่มการอะไรในวันที่30พฤศจิกายน2535นั้นตั้งแต่เวลาอันเป็นกำหนดเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณีต้องห้ามมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมคำนวณเข้าด้วยการนับระยะเวลา15วันตามหนังสือดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้นคือวันที่1ธันวาคม2535และครบกำหนด15วันในวันที่15ธันวาคม2535จำเลยจึงต้องชำระเงินค่าปรับให้แก่โจทก์ภายใน15ธันวาคม2535เมื่อจำเลยไม่ชำระเงินค่าปรับให้แก่โจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีตามมาตรา224แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตั้งแต่วันที่16ธันวาคม2535เป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 450,485.49 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 359,856 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 16ธันวาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์ครบถ้วน
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2535 โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายเครื่องตัดหญ้าแบบล้อจักรยาน จำนวน 26 เครื่อง ราคาเครื่องละ7,000 บาท รวมเป็นเงิน 182,000 บาท และเครื่องสูบน้ำเครื่องยนต์เบนซิน จำนวน 100 เครื่อง ราคาเครื่องละ 7,000บาท รวมเป็นเงิน 700,000 บาท ทั้งนี้โดยตกลงกันว่าจำเลยจะต้องส่งมอบเครื่องตัดหญ้าและเครื่องสูบน้ำดังกล่าวให้แก่โจทก์ ณ สำนักงานประถมศึกษา จังหวัดมหาสารคาม เพื่อให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุว่าถูกต้องก่อน แล้วจำเลยจะต้องจัดส่งเครื่องตัดหญ้าและเครื่องสูบน้ำดังกล่าวไปยังสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอและกิ่งอำเภอที่ได้รับจัดสรรตามบัญชีรายละเอียดท้ายสัญญาภายในวันที่ 5 เมษายน 2535 โดยในการทำสัญญาดังกล่าวจำเลยได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารทหารไทยจำกัด จำนวน 9,100 บาท และ 35,000 บาท ตามลำดับมามอบไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นการประกันการปฎิบัติตามสัญญา 2 ฉบับนั้น และได้ตกลงว่าเมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญาแล้วหากจำเลยไม่ส่งมอบหรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือไม่ครบจำนวน โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยจำเลยยอมให้โจทก์ริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้วแต่โจทก์จะเห็นสมควรหากโจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.20 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่จำเลยได้นำสิ่งของไปส่งให้แก่โจทก์จนถูกต้องครบถ้วน และในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่อาจปฎิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจะริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันกับเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามกำหนดในสัญญานอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ ต่อมาเมื่อถึงวันที่5 เมษายน 2535 แล้วจำเลยไม่ส่งมอบเครื่องตัดหญ้าและเครื่องสูบน้ำให้แก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 7 เมษายน2535 แจ้งสงวนสิทธิที่จะเรียกร้องค่าปรับในขณะที่ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาทั้ง 2 ฉบับนั้นไปยังจำเลย จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ต่อมาโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 12 มิถุนายน 2535แจ้งให้จำเลยตอบรับว่าจะจัดส่งมอบพัสดุตามสัญญาซื้อขายให้แก่โจทก์หรือไม่ หากจะส่งมอบให้กำหนดวันส่งมอบและตอบรับเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 3 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับหนังสือนั้น จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2535 แจ้งโจทก์ว่าจำเลยยังไม่มีเครื่องตัดหญ้าและเครื่องสูบน้ำ จำเลยรับรองว่าหากมีเครื่องตัดหญ้าและเครื่องสูบน้ำจะรีบจัดส่งให้โจทก์โดยด่วนและจำเลยยินดีให้ปรับตามสัญญา โจทก์มีหนังสือลงวันที่29 กรกฎาคม 2535 สอบถามจำเลยอีกครั้งหนึ่งว่า จะส่งมอบพัสดุตามสัญญาให้แก่โจทก์หรือไม่ หากจะส่งมอบให้กำหนดวันส่งมอบและตอบรับเป็นลายลักษณ์อักษรโดยด่วนจำเลยได้รับหนังสือนั้นแล้วแต่เพิกเฉย ต่อมาโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 24 กันยายน 2535แจ้งให้จำเลยจดส่งเครื่องสูบน้ำและเครื่องตัดหญ้าตามสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2535 จำเลยได้รับหนังสือแล้ว แต่เพิกเฉย โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 26ตุลาคม 2535 บอกเลิกซื้อสัญญาซื้อขายทั้ง 2 ฉบับ แก่จำเลยจำเลยได้รับหนังสือนั้นแล้ว หลังจากนั้นโจทก์ได้เรียกร้องให้ธนาคารทหารไทย จำกัด ชดใช้เงินตามหนังสือค้ำประกันสัญญาซื้อขายทั้ง 2 ฉบับ เป็นเงินรวม 44,100 บาท ให้แก่โจทก์ธนาคารทหารไทย จำกัด ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2535 เอกสารหมายจ.18 แจ้งให้จำเลยนำเงินค่าปรับตามสัญญาซื้อขายเครื่องตัดหญ้าวันละ 364 บาท นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2535 ถึงวันที่ 26ตุลาคม 2535 รวม 204 วัน เป็นเงิน 74,256 บาท และเงินค่าปรับตามสัญญาซื้อขายเครื่องสูบน้ำวันละ 1,400 บาท นับแต่วันที่6 เมษายน 2535 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2535 จำนวน 204 วันเป็นเงิน 285,600 บาท รวมเป็นเงินค่าปรับ 359,856 บาทมาชำระให้โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้นจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535ตามใบตอบรับของการสื่อสารแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.19แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระค่าปรับให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยเพียงข้อเดียวตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของเงินค่าปรับ จำนวน 359,856 บาท นับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2535 เป็นต้นไป มิใช่นับตั้งแต่วันที่ 16ธันวาคม 2535 เป็นต้นไปหรือไม่ ในปัญหานี้ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีหนังสือเอกสารหมาย จ.18 แจ้งให้จำเลยชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ เป็นการทำนิติกรรมกำหนดการนับระยะเวลาเป็นอย่างอื่น ต่างไปจากที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสองบัญญัติไว้ โดยกำหนดให้นับวันที่รับหนังสือเป็นวันแรกแห่งระยะเวลา เมื่อจำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 จึงต้องนับวันที่ 30พฤศจิกายน 2535 เป็นวันที่ 1 จำเลยต้องชำระค่าปรับภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2535 เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าปรับตามระยะเวลาดังกล่าว จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดนับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2535 แต่เนื่องจากเป็นการกำหนดระยะเวลาเป็นวัน เดือน และปีซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วย จึงต้องนับวันที่ 15 ธันวาคม 2535 เป็นวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลา การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินค่าปรับจำนวน359,856 บาท นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2535 ทำให้เงินค่าดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับขาดไป 1 วัน เป็นเงิน73.94 บาท นั้น เห็นว่า แม้คดีฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าปรับจำนวน359,856 บาท ให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้มีหนังสือเอกสารหมาย จ.18แจ้งให้จำเลยนำเงินค่าปรับจำนวนดังกล่าวมาชำระให้แก่โจทก์ภายใน 15วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น โดยจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์แจ้งจำเลยเช่นนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นนิติกรรมกำหนดการนับระยะเวลาเป็นอย่างอื่นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/1 การนับระยะเวลา 15 วัน ในกรณีนี้จึงต้องนับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งห้ามมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณีเมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยได้รับหนังสือเอกสารหมาย จ.18ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 ตั้งแต่เวลาใด จึงถือไม่ได้ว่าได้เริ่มการอะไรในวันนั้นตั้งแต่เวลาอันเป็นกำหนดเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณีต้องห้ามมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมคำนวณเข้าด้วย การนับระยะเวลา 15 วัน ตามหนังสือดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับ 1 ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 1 ธันวาคม2535 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสองและครบกำหนด 15 วัน ในวันที่ 15 ธันวาคม 2535 จำเลยจึงต้องชำระเงินค่าปรับให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2535เมื่อจำเลยไม่ชำระเงินค่าปรับให้แก่โจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 16ธันวาคม 2535 เป็นต้นไป ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2535เป็นต้นไปนั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share