แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขอคืนเงินภาษีอากรในจำนวนที่เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงภายในสองปีนับแต่วันนำของเข้าเพราะเหตุเกี่ยวด้วยราคาแห่งของใด ๆ ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2467 มาตรา10 วรรคท้าย นั้น จะต้องโต้แย้งหรือแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบว่าจะขอคืนเงินภาษีอากรในจำนวนที่เห็นว่าเสียไว้เกินจำนวนที่พึงเสียจริง มิฉะนั้นย่อมไม่มีสิทธิขอคืนไม่ว่าจะอยู่ในระยะ 2 ปี หรือไม่ การขอคืนหนังสือค้ำประกันมิใช่การขอคืนเงินภาษีอากรจึงไม่ต้องห้ามด้วยบทบัญญัติของมาตรา 10 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ต้องบังคับด้วยอายุความทั่วไป10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 กระบอกลูกสูบเครื่องยนต์ที่โจทก์นำเข้านอกจากจะมีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อ เอ็น.พี.อาร์. แล้ว ยังมีเครื่องหมายการค้าอื่นด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยนำสินค้าดังกล่าวของโจทก์ที่มียี่ห้อฮีโน่ประทับอยู่ไปเปรียบเทียบกับอะไหล่แท้ซึ่งเป็นสินค้ายี่ห้อฮีโน่ ปรากฏว่าเป็นสินค้าที่มีเนื้อโลหะ ขนาด และน้ำหนักเหมือนกันทุกประการ ส่วนสินค้าของโจทก์ที่มีเครื่องหมายการค้ายี่ห้ออีซูซุหรือโตโยต้านั้น แม้จะไม่ปรากฏผลการเปรียบเทียบก็ตาม แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างจากอะไหล่แท้ดังกล่าวอย่างไร จึงต้องถือว่าสินค้าของโจทก์มีราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามราคาของอะไหล่แท้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้นำเข้ากระบอกลูกสูบเครื่องยนต์ยี่ห้อเอ็น.พี.อาร์. จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักร พนักงานของจำเลยอ้างว่าราคาของสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ต่ำไป ซึ่งการประเมินของจำเลยไม่ชอบ ขอให้จำเลยคืนเงิน 335,270.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ กับให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด วงเงิน 651,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าตามฟ้องโจทก์ได้ขอเงินภาษีอากรจำนวน 335,270.62 บาท กับหนังสือค้ำประกันคืนสำหรับการขอภาษีอากรคืนในจำนวนเงินที่เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 10 วรรคห้ากำหนดให้เรียกคืนภายในสองปี นับแต่วันนำของเข้า แต่ถ้าเรียกร้องขอคืนเพราะเหตุเกี่ยวด้วยราคาแห่งของใด ๆ จะต้องแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบว่าจะยื่นคำเรียกร้องดังกล่าวแต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการยื่นใบขนสินค้าขาเข้า และแบบแสดงรายการการค้าและบัญชีราคาสินค้าเพื่อเสียภาษี ในบัญชีราคาสินค้าแม้จะได้มีการแก้ราคาสินค้าบางรายการให้สูงขึ้นจะเป็นเพราะข้อทักท้วงของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยหรือไม่ก็ตาม เมื่อโจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าตามราคาดังกล่าวและได้เสียภาษีอากรตามราคาสินค้าดังกล่าว โดยมิได้โต้แย้งหรือแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจะขอคืนภาษีอากรในจำนวนที่โจทก์เห็นว่าเสียไว้เกินจำนวนที่พึงเสียจริง โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิขอคืนไม่ว่าจะอยู่ในระยะเวลา 2 ปีหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืนเงินภาษีอากรจำนวน 335,270.62 บาท อุทธรณ์โจทก์ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ขอคืนนั้นเห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์ใช้หนังสือค้ำประกันเพื่อจะเสียภาษีอากรต่อไป มิใช่เป็นการขอคืนเงินภาษีอากรที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของมาตรา 10 วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 แต่ต้องบังคับด้วยอายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มีกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการขอคืนหนังสือค้ำประกันไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์โจทก์ส่วนนี้ฟังขึ้น และจำเป็นจะต้องวินิจฉัยเรื่องการขอคืนหนังสือค้ำประกันโดยโจทก์อ้างว่าการประเมินราคาสินค้าไม่ชอบประเด็นดังกล่าวศาลภาษีอากรกลางยังมิได้วินิจฉัย โดยเฉพาะการประเมินราคาสินค้าชอบหรือไม่ โจทก์ได้อุทธรณ์ประเด็นนี้ต่อศาลฎีกาแต่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวของโจทก์แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลฎีกา แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัย เห็นว่าเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสอบสินค้าที่โจทก์นำเข้าไม่ตรงตามบัญชีราคาสินค้า และมีราคาต่ำกว่าราคาสินค้าชนิดเดียวกับที่มีผู้อื่นนำเข้า ซึ่งโจทก์จะต้องเสียภาษีอากรเพิ่มจึงให้โจทก์วางประกันและโจทก์ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัดประกันไว้ เกี่ยวกับการกำหนดราคาสินค้าดังกล่าว ฝ่ายโจทก์มีนายศิริเดช บุศแก้ว เบิกความว่า ราคาที่โจทก์นำเข้านั้นเป็นราคาที่โจทก์ซื้อจากผู้ขาย ก่อนซื้อผู้ขายได้ส่งใบแจ้งราคาสินค้าโจทก์จึงเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ผู้ขายจึงได้ส่งบัญชีราคาสินค้าใบตราส่ง ใบบรรจุหีบห่อ และใบเรียกเก็บเงินโดยผ่านธนาคารมาให้โจทก์ใบบัญชีราคาสินค้าที่ระบุอีซูซุ ฮีโน่ นิสสัน มาสด้า มิตซูบิชิและโตโยต้า หมายความว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้ามานั้นจะใช้กับรถยนต์ยี่ห้อดังกล่าว แต่สินค้าโจทก์ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าเอ็น.พี.อาร์. ราคาที่โจทก์นำเข้าจึงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดจึงเห็นได้ว่าตามข้อนำสืบของโจทก์เอง ปรากฏว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้ามานั้น นอกจากจะมีเครื่องหมายการค้าหรือยี่ห้อ เอ็น.พี.อาร์แล้วยังมียี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าอื่นด้วย ส่วนจำเลยมีนายไพฑูรย์ ใจก้าวหน้า เบิกความว่า ได้ตรวจสินค้าโจทก์บางชิ้นมีคำว่า ฮีโน่ประทับอยู่ที่ตัวสินค้า และได้นำไปเปรียบเทียบกับสินค้าที่มีเครื่องหมายหรือยี่ห้อฮีโน่ปรากฏว่าเป็นสินค้าที่มีเนื้อโลหะ ขนาด และน้ำหนัก เหมือนกันทุกประการ ส่วนสินค้าที่ผู้นำเข้าอ้างไว้ในบัญชีราคาสินค้าว่า อีซูซุหรือโตโยต้าก็จะเทียบกับสินค้ายี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าของบริษัทนั้นแม้จะไม่ปรากฏจากคำเบิกความของนายไพฑูรย์ว่า ผลการเปรียบเทียบเป็นอย่างไร แต่โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้าแตกต่างจากอะไหล่แท้ดังกล่าวอย่างไร การที่จำเลยถือเอาราคาตามที่บริษัทนั้นได้ยื่นไว้ต่อจำเลยเป็นเกณฑ์ในการเรียกเก็บภาษีอากรและถือเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงเห็นได้ว่า เป็นการกำหนดราคาชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิจะรับคืนหนังสือค้ำประกันในชั้นนี้ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ