คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2225/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีมีอุบัติเหตุรถยนต์ติดหล่มเดินทางไปยังศาลที่พิจารณาคดีไม่ทัน ผู้ประกันมีสิทธิยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีและผัดการส่งตัวจำเลยต่อศาลที่ผู้ประกันอยู่ในเขตในขณะนั้นโดยอาศัย ป.วิ.พ.มาตรา 10 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ได้ แต่การที่ผู้ประกันยื่นคำร้องต่อศาลที่ผู้ประกันอยู่ในเขตขณะเกิดเหตุ เมื่อเวลา 13.40นาฬิกา ซึ่งล่วงเลยเวลานัดไปแล้ว โดยไม่ปรากฏเหตุผลว่าการเดินทางต่อไปยังศาลชั้นต้นคดีนี้ต้องใช้เวลามากกว่าหรือยากลำบากกว่าเพียงใด ผู้ประกันจึงไม่อาจนำจำเลยไปแสดงตัวต่อศาลชั้นต้นคดีนี้ได้ ทั้งยังปรากฏต่อมาว่าเมื่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีเลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันอื่น ผู้ประกันก็ส่งตัวจำเลยตามสัญญาประกันไม่ได้ แม้ภายหลังจากที่ศาลสั่งปรับผู้ประกันฐานผิดสัญญาประกันแล้ว ผู้ประกันก็มิได้นำส่งตัวจำเลยต่อศาลเพื่อขอลดค่าปรับหรือบรรเทาผลร้ายอีก เช่นนี้เชื่อได้ว่าจำเลยหลบหนีไม่มาศาลชั้นต้นตามกำหนดนัดตั้งแต่วันที่อ้างว่ามีอุบัติเหตุแล้ว.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก จำเลยกับผู้ประกันไม่มาศาล ศาลชั้นต้น ให้ปรับผู้ประกันตามสัญญา ให้นัดสืบพยานโจทก์ใหม่ ต่อมาผู้ประกันยื่นคำร้องขอเลื่อนการส่งตัวจำเลยต่อศาลชั้นต้น อ้างว่า ในวันนัด ผู้ประกันกับจำเลยเกิดอุบัติเหตุมาศาลไม่ได้เพราะรถยนต์ติดหล่มอยู่ในท้องที่อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ประกันขอขยายเวลาส่งตัวจำเลยใน 30 วันศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ต่อมาผู้ประกันขอขยายเวลาส่งตัวจำเลย 20 วันอ้างว่าจำเลยไปขับรถยนต์รับจ้างทางภาคเหนือ พร้อมรับส่งสำเนาคำร้องที่จำเลยกับผู้ประกันได้ยื่นไว้ที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาความว่า จำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกไปติดหล่มอยู่ที่อำเภอเสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่สามารถมาศาลชั้นต้นได้ทัน จึงยื่นคำร้องไว้ต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาวันนัดสืบพยานโจทก์นัดที่สอง ผู้ประกันกับจำเลยไม่มาศาลศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีและแจ้งให้พนักงานอัยการดำเนินการบังคับคดีแก่ผู้ประกันตามสัญญาส่วนที่ผู้ประกันยื่นคำร้องขอเลื่อนการส่งตัวจำเลยนั้น ให้ยกคำร้อง
ผู้ประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ประกันฎีกาว่า ผู้ประกันมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นที่ผู้ประกันอยู่ในเขตศาลในขณะนั้น เพราะผู้ประกันไม่อาจมาดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นได้เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ติดหล่มเดินทางไปไม่ทัน โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายระยะเวลาที่กำหนดนัดไว้เดิมหรือเลื่อนการพิจารณาคดีต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23ผู้ประกันมิได้มีเจตนาที่จะผิดสัญญาประกันนั้น เห็นว่า ผู้ประกันมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาหรือขอเลื่อนการพิจารณาคดีในวิธีการดังกล่าวได้ แต่ตามคำร้องที่ยื่นต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาปรากฏว่าผู้ประกันยื่นคำร้องเมื่อเวลา 13.40 นาฬิกาซึ่งล่วงเลยเวลานัดไปแล้ว โดยไม่ปรากฏในคำร้องว่า การเดินทางมาศาลชั้นต้นคดีนี้ต้องใช้เวลามากกว่าหรือยากลำบากกว่าการเดินทางไปศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพียงใด ผู้ประกันจึงไม่เดินทางต่อไปยังศาลชั้นต้นซึ่งเป็นพิจารณาคดีนี้เสียโดยตรงไปแสดงตัวให้ศาลชั้นต้นเห็นจำเลยว่าได้เดินทางไปศาลตามกำหนดนัดแล้ว การที่ผู้ประกันเลือกเดินทางไปร้องขอต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยไม่มีเหตุที่จะกล่าวอ้างได้ทำให้น่าเชื่อว่า ในวันนัดพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นในวันที่ 20 มีนาคม 2532 จำเลยไม่มาศาลตามกำหนดนัดและผู้ประกันไม่สามารถส่งตัวจำเลยต่อศาลชั้นต้นได้ยังปรากฏต่อมาอีกว่า เมื่อศาลชั้นต้นเลื่อนการพิจารณาคดีไปเป็นวันที่ 25 เมษายน2532 ผู้ประกันก็ส่งตัวจำเลยต่อศาลชั้นต้นไม่ได้อีกด้วย ข้ออ้างที่ว่าจำเลยไปขับรถยนต์รับจ้างอยู่ทางภาคเหนือ ก็ไม่ปรากฏชัดว่าไปรับจ้างใครที่จังหวัดใดและจะกลับมาเมื่อไร แม้ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันฐานผิดสัญญาประกันแล้ว ผู้ประกันก็หาได้ส่งตัวจำเลยต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอลดค่าปรับเป็นการบรรเทาผลร้ายแต่อย่างใดไม่ เชื่อได้ว่าจำเลยหลบหนีไม่มาศาลชั้นต้นตามกำหนดนัด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2532 แล้ว ผู้ประกันผิดสัญญาประกันที่ทำไว้ ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของผู้ประกันฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share