คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ไปต่างจังหวัดโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเสียหาย 45 บาท เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย จำเลยสามารถ เลือก ลงโทษโจทก์สถานใดสถานหนึ่งใน 7 สถาน แต่จำเลยกลับพิจารณาให้ เลิกจ้างโจทก์เป็นโทษที่หนักเกินไป ไม่เหมาะสมกับการกระทำผิด ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นเมื่อคำฟ้องโจทก์มิได้อ้างว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและศาลแรงงานกลางก็มิได้วินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2531 จำเลยซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่าบริษัทธนาคารสหธนาคาร จำกัด จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ช่างปรับอากาศ ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน 2537 จำเลยได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัทธนาคารไทยธนาคารจำกัด (มหาชน) โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,290 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2542จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 44 วัน โจทก์ทำงานกับจำเลยมาครบ 10 ปี ขึ้นไป จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ระหว่างทำงานจำเลยหักเงินค่าจ้างโจทก์เป็นเงินสะสมอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนนำเข้าบัญชีเงินฝากในชื่อโจทก์โดยจำเลยเป็นผู้เก็บรักษาสมุดบัญชีไว้ มีข้อตกลงว่าหากโจทก์ออกจากงานและไม่ได้ทำความเสียหายแก่จำเลย จำเลยจะมอบคืนแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ส่งมอบสมุดบัญชีแก่โจทก์ซึ่งมีเงินในบัญชีจำนวน 33,762 บาทขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 10,692 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าชดเชย 72,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยให้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายเงินสะสมจำนวน 33,762 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่พนักงานช่างเครื่องกลหน่วยเครื่องปรับอากาศ ส่วนบำรุงรักษาเครื่องไฟฟ้าและจักรกล ฝ่ายธุรการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2541 โจทก์เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่แทนพนักงานช่างคนอื่นระหว่างทำงานโจทก์ได้ใช้อุปกรณ์พิเศษที่โจทก์มีอยู่ในครอบครองต่อกับโทรศัพท์แล้วนำไปต่อกับตู้โทรศัพท์ของจำเลยหมายเลข (02) 6528313 เพื่อลักลอบใช้โทรศัพท์ของจำเลย โดยโจทก์ได้โทรศัพท์ 2 ครั้ง ติดต่อกับหมายเลข(043) 830149 ซึ่งโทรศัพท์ดังกล่าวมีการบันทึกเทปการใช้เพราะเป็นโทรศัพท์สำหรับลูกค้าบัตรเครดิต ฝ่ายบัตรเครดิตติดตั้งเป็นกรณีเพื่อติดต่อรับโทรศัพท์เข้าเท่านั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรง และกระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยสุจริต ทำให้จำเลยเสียหาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินสะสม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2531 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายทำหน้าที่ช่างปรับอากาศ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,290 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือนเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นวันหยุดโจทก์ได้เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่ดูแลไฟฟ้า ประปาและโทรศัพท์ ในวันดังกล่าวโจทก์ได้นำเอาปลั๊กที่เต้าเสียบสำหรับตรวจสอบเครื่องโทรศัพท์ต่อเข้ากับเครื่องโทรศัพท์และเอาส่วนหัวของเต้าเสียบเทียบเข้ากับตู้ชุมสายโทรศัพท์ของจำเลยแล้วโจทก์ใช้โทรศัพท์ทางไกลไปยังจังหวัดกาฬสินธุ์ 2 ครั้ง ที่หมายเลข (043) 830149 รวม3 นาที เป็นค่าโทรศัพท์ 45 บาท จำเลยห้ามพนักงานใช้โทรศัพท์ทางไกลเว้นแต่พนักงานประสงค์จะใช้ในกิจการของจำเลยซึ่งจะต้องขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชามีระดับตั้งแต่ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป และจะต้องใช้ผ่านพนักงานต่อโทรศัพท์แต่โจทก์ใช้โทรศัพท์ทางไกลโดยไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชา ต่อมาในวันที่ 28 กันยายน 2541 นายชูวิน โสภา และนายมนูญ ทุมแสน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายธุรการสอบปากคำโจทก์ไว้ตามเอกสารหมาย ล.3 จากนั้นนายมนูญจึงได้รายงานการกระทำของโจทก์ตามลำดับชั้นตามเอกสารหมาย ล.5 และเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2541จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องและเมื่อสอบสวนแล้วเสร็จ คณะกรรมการจึงได้สรุปข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นส่งให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ต่อมาจำเลยจึงได้แจ้งมติคณะกรรมการให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย ล.14 ซึ่งจำเลยถือว่าเป็นหนังสือเลิกจ้าง หนังสือดังกล่าวโจทก์ได้รับไปในวันที่ลงไว้ จำเลยมีระเบียบเกี่ยวกับการค้ำประกันพนักงานปรากฏตามคำสั่งที่ 24/2519 เอกสารหมาย จล.1 จำเลยเคยมีคำสั่งที่ 427/2538 เป็นระเบียบในการสอบสวนผู้กระทำผิดทางวินัยเอกสารหมายจล.2 และจำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามคำสั่งที่ 428/2538เอกสารหมาย จล.3 แล้ววินิจฉัยว่า วันเกิดเหตุโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ดูแลไฟฟ้าประปา และโทรศัพท์ แต่กลับใช้อุปกรณ์สำหรับตรวจสอบเครื่องโทรศัพท์ต่อเข้ากับตู้ชุมสายโทรศัพท์ของจำเลยทั้งที่ปราศจากอำนาจที่จะทำและไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแล้วใช้โทรศัพท์ไปต่างจังหวัด ซึ่งโทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้านั้นไปในสายลวดเข้าเครื่องรับปลายทางที่จะทำหน้าที่เปลี่ยนกระแสไฟฟ้าให้กลับไปเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดนำจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่ง การที่โจทก์ลักเอาสัญญาณโทรศัพท์ของจำเลยโดยใช้เครื่องมือพิเศษสำหรับตรวจสอบเครื่องโทรศัพท์ที่โจทก์มีไว้เพื่อปฏิบัติหน้าที่ซ่อมโทรศัพท์จึงมีผลทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองคลื่นสัญญาโทรศัพท์ต้องเสียค่าใช้จ่ายแก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ดูแลไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์กลับแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตัวโจทก์เองโดยอาศัยโอกาสที่โจทก์ปฏิบัติงานในหน้าที่จึงทราบวิธีการใช้และการลักเอาสัญญาณโทรศัพท์ และใช้โอกาสนั้นเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์จากสัญญาณโทรศัพท์นั้น อีกทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องเสียหายจากการแสวงหาและได้รับประโยชน์ของโจทก์จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อบังคับที่เกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมายจล.3 ข้อ 9.6 ข้อย่อยข้อ 1 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 119(1) และการทุจริตต่อหน้าที่ถือเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างสามารถไล่โจทก์ออกโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์เป็นเพียงฝ่าฝืนระเบียบการใช้โทรศัพท์ของจำเลยซึ่งระบุว่าห้ามใช้โทรศัพท์ทางไกลจากเครื่องโทรศัพท์ในที่ทำงานของจำเลย เว้นแต่พนักงานจะประสงค์ใช้ในกิจการของจำเลยจะต้องขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาระดับตั้งแต่ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไปซึ่งเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีทั่วไปไม่ใช่กรณีร้ายแรงนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อกฎหมายดังกล่าวให้เป็นคุณแก่โจทก์ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีไม่ร้ายแรงก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ไปต่างจังหวัดโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเสียหายเพียง 45 บาท เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย จำเลยสามารถเลือกลงโทษโจทก์สถานใดสถานหนึ่งใน 7 สถาน แต่จำเลยกลับพิจารณาให้เลิกจ้างโจทก์เป็นโทษที่หนักเกินไป ไม่เหมาะสมกับการกระทำผิด ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่าคำฟ้องโจทก์มิได้อ้างว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและในการพิจารณาคดีนี้ศาลแรงงานกลางก็มิได้วินิจฉัยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน

พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์

Share