คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โดยปกติศาลเป็นผู้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาใช้บังคับแก่คดีโดยมีอำนาจพิจารณาว่ากฎหมายใดจะใช้บังคับคดีได้หรือไม่ ฉะนั้น ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาตีความรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าบทกฎหมายนั้นๆขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เว้นแต่จะมีบทกฎหมายโดยเฉพาะบัญญัติให้อำนาจหน้าที่พิจารณาตีความรัฐธรรมนูญไปตกอยู่แก่สถาบันอื่น
มาตรา 5,19 ประกอบด้วย มาตรา 20 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร แสดงว่าอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญเพื่อใช้กฎหมายปรับแก่คดีเป็นอำนาจศาล สภาจะวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญเฉพาะที่มีปัญหาเกิดขึ้นในวงงานสภา หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้วินิจฉัยเท่านั้น
มาตรา 3,4,5 และ 7 แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน พ.ศ.2496 ขัดต่อ มาตรา99 ของรัฐธรรมนูญฯ เพราะเป็นการให้อำนาจคณะบุคคลให้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นกรณีพิพาทระหว่างบุคคล มีผลที่จะลบล้างกรรมสิทธิ์ของบุคคลที่มีอยู่แล้ว และก่อตั้งกรรมสิทธิ์ขึ้นใหม่

Share