คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222-223/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน(ตำรวจ) ไปจับผู้เสียหายทั้งสอง (ในข้อหาว่า ขายสลากกินรวบ) และยึดเอาเงินในตัวผู้เสียหายทั้งสอง โดยปราศจากหลักฐานหรือเหตุผลที่ควรจะจับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ และได้จูงใจให้ผู้เสียหายยอมให้เงินที่จำเลยยึดไว้แก่จำเลย แล้วจำเลยปล่อยผู้เสียหายไป การกระทำของจำเลยเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และการที่จำเลยจับผู้เสียหายแต่ละสำนวนมาคนละที(โจทก์ฟ้องจำเลยเป็น 2 สำนวน)ในเวลาห่างกัน สถานที่ที่จับก็เป็นคนละแห่ง ข้อหาที่จับแม้จะเป็นอย่างเดียวกัน แต่ก็มิได้เกี่ยวเนื่องเป็นกรณีเดียวกัน จะฟังว่าคดีที่โจทก์กล่าวหาจำเลยทั้ง 2 สำนวนเป็นเรื่องเดียวกันไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อปรากฏว่าคดีทั้ง 2 สำนวน ศาลพิจารณารวมกัน ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยไปจับผู้เสียหายทั้งสองแล้วนำไปส่งสถานีตำรวจ แล้วเรียกให้ผู้เสียหายยอมให้เงินในเวลาที่พาไป ศาลล่างทั้งสองจึงวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองจริงตามฟ้อง จึงไม่มีข้อเท็จจริงอะไรที่จะย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ฉะนั้น เมื่อ(ศาลชั้นต้นยกฟ้องสำนวนหลังสำนวนเดียวเห็นว่าเป็นฟ้องซ้อน) ศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ และจำเลยกระทำผิดจริง ก็ชอบเพียงแต่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดีเท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามลำดับศาล

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้ ศาลล่างพิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ฟ้องข้อหาอย่างเดียวกันว่า จำเลยรับราชการเป็นพลตำรวจสมัครประจำกองตำรวจภูธรอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ แกล้งกล่าวหา นายเทศ พันธมาศ และนายเภา ดัดตุยะรัช ผู้เสียหายแต่ละสำนวนว่าขายสลากกินรวย ทำการตรวจค้นไม่ได้หลักฐานอะไร คงยึดเงินจากนายเทศ ๘๐ บาท จากนายเภา ๑๔๐ บาท ระหว่างควบคุมตัวไปส่งสถานีตำรวจ จำเลยเจรจาจูงใจว่า หากผู้เสียหายยอมให้เงินคนละ ๕๐ บาทแก่จำเลยแล้ว จะปล่อยตัวและคืนเงินที่เหลือให้ ผู้เสียหายทั้งสองจำยอมให้จำเลยหักเงินไว้คนละ ๕๐ บาท และรับเงินที่เหลือคืน แล้วจำเลยปล่อยผู้เสียหายทั้งสอง ไม่ส่งดำเนินคดีขอให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๘
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทั้งสองมอบเงินให้แก่จำเลยจริงตามฟ้อง แต่เห็นว่าจำเลยจับผู้เสียหายทั้งสองในเวลาไล่เลี่ยกันในวันเดียวกัน นำมาควบคุมไว้ที่บ้านครูชุมพลแล้วคุมตัวไประหว่างทางและได้เรียกเงินจากผู้เสียหาย โดยคืนเงินบางส่วนให้ผู้เสียหายพร้อม ๆกัน แม้ผู้เสียหายจะมี ๒ คน และสอบสวนผู้เสียหายคนละวัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวและเป็นความผิดเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีแรกแล้ว จะยื่นฟ้องคดีเดียวกันต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีกไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ วรรค ๒ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ พิพากษายกฟ้องคดีหลัง ส่วนคดีแรกพิพากษาว่าจำเลยผิดมาตรา ๑๔๘ จำคุก ๕ ปี
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทำผิดจริงตามฟ้อง และไม่เป็นฟ้องซ้ำ แต่เห็นว่าศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะคดีหมายเลขดำของศาลชั้นต้นที่ ๙๑๘/๒๕๐๗ (สำนวนหลัง) ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ส่วนคดีดำที่ ๙๑๗/๒๕๐๗ (สำนวนแรก) พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ชอบที่จะลงโทษจำเลยในคดีดำที่ ๙๑๘/๒๕๐๗ (สำนวนหลัง) ได้เลย
จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่าเป็นฟ้องซ้ำ และฎีกาข้อเท็จจริงโดยผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ได้ไปจับผู้เสียหายทั้ง ๒ และยึดเอาเงินในตัวผู้เสียหายโดยปราศจากหลักฐานหรือเหตุผลที่ควรจะจับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ และจำเลยได้พูดจูงใจผู้เสียหายทั้ง ๒ ยอมให้เงินที่จำเลยได้ยึดไว้อยู่แล้วแก่จำเลย แล้วจำเลยก็ปล่อยผู้เสียหายไปตามฟ้อง ศาลล่างพิพากษาลงโทษจำเลยชอบแล้ว
และเห็นว่า จำเลยไปจับผู้เสียหายแต่ละสำนวนมาคนละทีในเวลาห่างกัน สถานที่ที่จับก็เป็นคนละแห่ง ข้อหาที่จับแม้จะเป็นอย่างเดียวกัน แต่ก็มิได้เกี่ยวเนื่องเป็นกรณีเดียวกันแต่ประการใด จะฟังว่าคดีที่โจทก์กล่าวหาจำเลยทั้ง ๒ สำนวน เป็นเรื่องเดียวกันดังฎีกาจำเลยไม่ได้ และเห็นว่า ปรากฏว่าคดีทั้ง ๒ สำนวนนี้ ศาลได้พิจารณารวมกันมา ข้อเท็จจริงนำสืบกันมาก็ได้ความทั้งสองสำนวนว่า จำเลยได้ไปจับผู้เสียหายทั้ง ๒ คนมา แล้วพาไปส่งสถานีตำรวจด้วยกันแล้ว จำเลยได้เรียกให้ผู้เสียหายยอมให้เงินแก่จำเลยในเวลาที่พาไปนั้นเอง ศาลล่างทั้งสองจึงได้วินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงมาต้องกันว่า จำเลยได้เรียกและรับเงินจากผู้เสียหายทั้ง ๒ คนเป็นความจริงตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่มีข้อเท็จจริงอะไรที่ศาลอุทธรณ์จะย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีดำที่ ๙๑๘/๒๕๐๗ (สำนวนหลัง) อีก เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ และศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง ก็ชอบที่เพียงแต่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดีเท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามลำดับศาล พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีดำที่ ๙๑๘/๒๕๐๗ (สำนวนหลัง) ใหม่ตามรูปคดี.

Share