คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22198/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

องค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และมาตรา 110 (1) ที่ว่า เครื่องหมายการค้าที่ปลอมต้องเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร หมายถึง การจดทะเบียนสำหรับสินค้าเฉพาะรายการที่ได้จดทะเบียนด้วย และการมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วนี้ ก็ย่อมหมายถึงสินค้าเฉพาะตามรายการที่ได้จดทะเบียนไว้ด้วยเท่านั้น
โจทก์บรรยายฟ้องในตอนแรกว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าบุหรี่ซิกาแรตยี่ห้อวันเดอร์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ผู้เสียหาย และบรรยายฟ้องต่อมาถึงการจดทะเบียนเพียงว่า ผู้เสียหายได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนแล้วในราชอาณาจักร โดยไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้นสำหรับสินค้าบุหรี่ซิกาแรตด้วยแต่อย่างใด ย่อมไม่อาจฟังได้ว่าผู้เสียหายจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนไว้สำหรับใช้กับสินค้าบุหรี่ซิกาแรตในอันที่จะมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้านี้สำหรับสินค้าบุหรี่ซิกาแรต ที่มีผลให้การที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งบุหรี่ซิกาแรตที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย และย่อมไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลย ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายข้อเท็จจริงไม่ครบองค์ประกอบความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 4, 24, 43, 44, 50, 53 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108, 110 (1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบบุหรี่ซิกาแรตของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 24, 43, 44, 50, 53 (ที่ถูก มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 50) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมปรับ 8,000 บาท ฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งยาสูบที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ฐานมียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ไว้ในครอบครองเกินกว่าห้าร้อยกรัม และฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งยาสูบที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 320,000 บาท รวมปรับเป็นเงิน 328,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 164,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ โดยให้จ่ายตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 5 (2), 6, 7, 8, 9
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดและขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ซึ่งแม้ตามมาตรา 108 บัญญัติเพียงว่า “บุคคลใดปลอมเครื่องหมายการค้า… ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรต้องระวางโทษ…” ก็ตาม แต่ความผิดฐานนี้เป็นความผิดที่กระทำต่อเจ้าของเครื่องหมายการค้า และกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดทางอาญาดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร โดยสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรมีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ มาตรา 44 ว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 27 และมาตรา 28 เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้” และมาตรา 46 บัญญัติว่า “บุคคลใดจะฟ้องคดีเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน หรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวไม่ได้” ดังนี้สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้แต่เพียงผู้เดียวดังกล่าวย่อมมีขอบเขตจำกัดอยู่เฉพาะการใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้นโดยไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าอื่น ๆ นอกจากที่ได้จดทะเบียนไว้ด้วยแต่อย่างใด จากบทกฎหมายดังกล่าวมาข้างต้นนี้ย่อมเห็นได้ว่า การกระทำอันจะถือเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 รวมทั้งการนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมตามมาตรา 108 อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) ดังที่โจทก์ฟ้องนั้น จะต้องมีการปลอมเครื่องหมายการค้าและใช้กับสินค้าตามที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้เฉพาะสำหรับสินค้ารายการที่จดทะเบียนด้วย เพราะหากมีการใช้เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว แต่เป็นการใช้กับสินค้าอื่นนอกจากสินค้ารายการที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จดทะเบียนไว้ก็ไม่เป็นการละเมิดสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนนั้นตามมาตรา 44 แต่อย่างใด หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าใดก็ถือว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้านั้นเท่านั้น และไม่อาจถือได้ว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วสำหรับสินค้ารายการอื่นที่ไม่ได้จดทะเบียนไว้แต่อย่างใด ดังนั้นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 108 และมาตรา 110 (1) ดังกล่าวที่ว่าเครื่องหมายการค้าที่ปลอมต้องเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ย่อมหมายถึงการจดทะเบียนสำหรับสินค้าเฉพาะรายการที่ได้จดทะเบียนด้วยและการมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วนี้ก็ย่อมหมายถึงสินค้าเฉพาะตามรายการที่ได้จดทะเบียนไว้ด้วยเท่านั้น
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องในตอนแรกว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าบุหรี่ซิกาแรตยี่ห้อวันเดอร์ ที่เป็นเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ผู้เสียหาย และบรรยายฟ้องต่อมาถึงการจดทะเบียนเพียงว่า ผู้เสียหายได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนแล้วในราชอาณาจักร โดยไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้นสำหรับสินค้าบุหรี่ซิกาแรตด้วยแต่อย่างใด ย่อมไม่อาจฟังได้ว่าผู้เสียหายจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนไว้สำหรับใช้กับสินค้าบุหรี่ซิกาแรตในอันที่จะมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้านี้สำหรับสินค้าบุหรี่ซิกาแรต ที่มีผลให้การที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งบุหรี่ซิกาแรตที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย และย่อมไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมาย ที่โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยมาดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายข้อเท็จจริงไม่ครบองค์ประกอบความผิด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่าความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานอื่นตามฟ้องหรือไม่ และควรลดโทษจำเลยในความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือไม่อีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะในความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share