แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188 นั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเอกสารนั้นเป็นของใคร เมื่อเช็ค เป็นของ ธ. การที่จำเลยแย่งมาฉีกทำลายจึงเป็นการทำลายเอกสารของผู้อื่น และเช็ค ที่จำเลยมอบให้ ธ. แล้วนั้นจะเป็นพยานหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่จะใช้ พิสูจน์การกระทำ ของจำเลยที่โจทก์อ้างว่าเป็นการฉ้อโกง การที่จำเลยทำลายเอกสาร ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91,80, 341, 188 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบสมุดเช็คธนาคารกสิกรไทยเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาอ่อนนุช ซึ่งจำเลยฉีกขาด นามบัตรชื่อจำเลยและภาพถ่ายรถยนต์เก๋งของกลาง
ระหว่างสืบพยานโจทก์ นางสาวสุนีย์ แซ่ลี้ ผู้เสียหาย ขอถอนคำร้องทุกข์ในข้อหาพยายามฉ้อโกง ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาทำลายเอกสารของผู้อื่น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 ให้จำคุก 9 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานไปบ้างแล้ว ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 เดือน ของกลางให้ริบเฉพาะเช็คที่จำเลยฉีกขาด ส่วนของกลางอื่นนั้นเนื่องจากสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับโดยถอนคำร้องทุกข์ จึงไม่สั่งให้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า นายธีระศักดิ์วางแผนจับกุมจำเลยการมอบเงิน 5,500 บาท โดยใส่ซองปิดผนึกแก่จำเลยนั้นมิได้ตั้งใจมอบให้จริงแต่เป็นเพียงอุบายเป็นหลักฐานในการจับกุมเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่มอบเช็คของตนให้เป็นประกันเพราะไม่มีมูลหนี้ที่จะต้องประกัน เมื่อจำเลยทราบว่านายธีระศักดิ์วางแผนจับกุมจึงคืนเงินแก่นายธีระศักดิ์ในทันทีนั้น และเอาเช็คของตนจากนายธีระศักดิ์คืนมา เช็คดังกล่าวจึงยังเป็นของจำเลยอยู่ การที่จำเลยนำมาขยำหรือฉีกเสียจึงเป็นการกระทำแก่เอกสารของตนเองทั้งไม่ทำให้นายธีระศักดิ์หรือนางสาวสุนีย์เสียหาย แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยคงมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 หรือไม่ เห็นว่าในความผิดฐานนี้ จำเลยให้การว่า “ขอให้การรับสารภาพในข้อหาฐานความผิดฐานทำลายเอกสารของผู้อื่น” เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำฟ้องว่า เป็นเอกสารของผู้อื่นและการที่จำเลยทำลายนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น อันเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188และถึงแม้จะพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบว่า นายธีระศักดิ์วางแผนจับกุมจำเลยที่หลอกลวงนางสาวสุนีย์ โดยมอบเงินให้จำเลยแล้วจำเลยออกเช็คให้ไว้เป็นหลักประกันก็ตาม เมื่อจำเลยมอบเช็คของกลางให้นายธีระศักดิ์แล้ว เช็คนั้นก็เป็นเอกสารของนายธีระศักดิ์ส่วนเช็คนั้นมีมูลหนี้ที่จะเรียกร้องกันตามเช็คได้หรือไม่นั้นมิใช่ข้อสำคัญ เพราะการทำลายเอกสารอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 นั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเอกสารนั้นเป็นของใคร เมื่อเช็คเป็นของนายธีระศักดิ์ การที่จำเลยแย่งมาฉีกทำลายจึงเป็นการทำลายเอกสารของผู้อื่น และเช็คที่จำเลยมอบให้ธีระศักดิ์แล้วนั้นจะเป็นพยานหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่จะใช้พิสูจน์การกระทำของจำเลยที่โจทก์อ้างว่าเป็นการฉ้อโกง การที่จำเลยทำลายเอกสารดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นแต่เช็คของกลางที่จำเลยฉีกขาดนั้น มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดในความผิดตามมาตรานี้ จึงไม่อาจริบได้และต้องคืนให้เจ้าของส่วนของกลางในข้อหาฉ้อโกงที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งคืน สมควรคืนให้เจ้าของเสียด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 49 และมาตรา 186(9)”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ของกลางทั้งหมดให้คืนเจ้าของ.