คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2216/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่พิพาทซึ่งผู้ใหญ่บ้านจำเลยปักหลักไม้แก่นคือหนองปลาตองอันได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะประเภทที่จับสัตว์น้ำมาแต่โบราณ แม้ปัจจุบันจะตื้นเขินอันเป็นเหตุให้โจทก์เข้าครอบครองทำนามาหลายปี ก็หาทำให้ที่พิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์สิ้นสภาพไปไม่ แม้โจทก์จะครอบครองมาช้านานเพียงใด หรือได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไว้แล้ว ก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิใดๆ เหนือที่พิพาท
ศาลพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยได้ แม้จำเลยมิได้ร้องขอ

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า กรมที่ดินได้มีคำสั่งให้นายไพบูลย์ มารอด นายธเนศ เสือขุนชัย ออกไปรังวัดปักหลักเขตเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในท้องที่อำเภอกมลาไสย นายธงชัย ทองเจริญ นายอำเภอจึงมีคำสั่งตั้งให้จำเลยไปเป็นพยานนำชี้และรับรองแนวเขต ในการรังวัดปักเขตออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่สาธารณประโยชน์ จำเลยได้นำชี้ที่ดินกว้าง 1 เส้น 5 วา ยาว 1 เส้น 10 วา คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 750 ตารางวา ในที่ดินพิพาทโดยระบุว่าเป็นเนื้อที่สาธารณประโยชน์ซึ่งใช้เป็นที่จับสัตว์น้ำและเลี้ยงสัตว์ชื่อหนองปลาตองและได้ปักไม้แก่นเป็นหลักไว้ 4 มุม

ที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ซึ่งจำเลยปักหลักไม้ไม่ใช่ที่จับสัตว์น้ำสาธารณประโยชน์หนองปลาตองนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยนายสวัสดิ์ ศักดิ์ญาพันธ์ นายธงชัย ทองเจริญ และ นายคูณ วรรณเคลื่อน เบิกความว่า หนองปลาตองเป็นหนองน้ำสาธารณประโยชน์ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นที่จับสัตว์น้ำมาตั้งแต่เมื่อครั้งจังหวัดกาฬสินธุ์ขึ้นต่อมณฑลนครราชสีมาตามเอกสารหมาย ล.2 ครั้นเมื่อโอนย้ายไปขึ้นมณฑลร้อยเอ็ด ก็ยังขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะเช่นเดิม ตามเอกสารหมาย ล.1 ทั้งปรากฏว่าที่ดินของนางพิมพ์ วรรณเคลื่อน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ก. เลขที่ 4529 เอกสารหมาย ล.4 กับที่ดินของนางบุญชู อนุสนธ์ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ก. เลขที่ 4530 เอกสารหมาย ล.4 เป็นที่ดินซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโจทก์ มีอาณาเขตระบุแจ้งชัดว่า ติดลำห้วยสาธารณประโยชน์ทั้งสองแปลง เมื่อพิเคราะห์เทียบเคียงภาพถ่ายแผนที่ระวางรูปถ่ายทางอากาศ ตามเอกสารหมาย ล.3 จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีลำห้วยสาธารณประโยชน์ผ่านที่ดินนางพิมพ์ วรรณเคลื่อน เข้ามาในที่ดินโจทก์เลยเข้ามาในที่ดินของนายบุญชู อนุสนธ์ นอกจากนั้น พระภิกษุสีทา ติดสาโรจน์พยานโจทก์ยังเบิกความรับว่า มีลำรางผ่านที่ดินโจทก์เป็นลำรางธรรมชาติ ตรงที่ผ่านที่ดินโจทก์ก็จะเป็นแอ่งน้ำ หน้าฝนมีน้ำขัง มีชาวบ้านไปจับปลา อันเป็นการเจือสมถ้อยคำพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริเวณที่พิพาท ซึ่งจำเลยปักหลักไม้แก่นนั้น คือหนองปลาตองอันได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะประเภทที่จับสัตว์น้ำมาแต่โบราณ แม้ปัจจุบันจะตื้นเขินอันเป็นเหตุให้โจทก์เข้าครอบครองทำนามาหลายปีก็หาทำให้ที่พิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์สิ้นสภาพไปไม่ และแม้โจทก์จะครอบครองมาช้านานเพียงใดหรือได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไว้แล้วก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิใด ๆ เหนือที่พิพาท

ที่โจทก์ฎีกาอีกว่า จำเลยมิได้ขอให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความแทนจำเลยเป็นการมิชอบนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167บัญญัติว่า “คำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ไม่ว่าคู่ความทั้งปวงหรือแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จักมีคำขอหรือไม่ก็ดี ให้ศาลสั่งลงไว้ในคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือในคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้วแต่กรณี” ดังนั้นแม้จำเลยจะมิได้ร้องขอให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยได้”

พิพากษายืน

Share