คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

มาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22)ฯ กำหนดให้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือนับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลบังคับย้อนหลัง จึงไม่กระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น ข้อความในมาตรา 84 วรรคสุดท้ายแห่ง ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติว่า ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ… ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน…นั้น หมายถึง ถ้อยคำที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับภายหลังจากที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น แต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมคดีนี้ จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานผู้จับก่อนที่ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จึงไม่ต้องห้ามใช้เป็นพยานหลักฐาน
ขณะจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจ จำเลยได้พูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ญาติพี่น้องฟัง ญาติพี่น้องจำเลยจึงบอกจำเลยให้รับสารภาพ แสดงว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ มิได้เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น คำให้การดังกล่าวจึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 135

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ระวางโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษฐานจำหน่าย จำคุก 4 ปี คำรับชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมทั้งยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ด น้ำหนัก 0.167 กรัม และธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 3 ฉบับ เป็นของกลาง มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ โจทก์มีสิบตำรวจเอกไพฑูรย์ แพสันเที๊ยะ ผู้ร่วมวางแผนจับกุมเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุพยานสืบทราบว่าจำเลยมีพฤติการณ์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจึงร่วมกันวางแผนจับกุมโดยนำธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 3 ฉบับ ไปถ่ายสำเนาและลงบันทึกในรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้วมอบธนบัตรดังกล่าวให้สายลับนำไปใช้ล่อซื้อ โดยโจทก์มีสำเนาธนบัตรและสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 มาสนับสนุน ขณะเกิดเหตุพยานซุ่มดูการล่อซื้ออยู่ที่บริเวณตรงข้ามกับบ้านที่เกิดเหตุห่างประมาณ 100 เมตร โดยใช้กล้องส่องทางไกลส่องดูเห็นจำเลยพูดคุยกับสายลับแล้วจำเลยส่งมอบวัตถุสีขาวให้แก่สายลับและสายลับส่งมองเงินให้แก่จำเลย จากนั้นทั้งพยานและสายลับต่างเดินทางไปหาพันตำรวจเอกสุรเชษฐ์ พยานเห็นสายลับมอบวัตถุสีขาวให้แก่พันตำรวจเอกสุรเชษฐ์แจ้งว่าซื้อมาจากจำเลย เมื่อพันตำรวจเอกสุรเชษฐ์ตรวจดูก็ปรากฏว่าภายในมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 2 เม็ด บรรจุอยู่ และภายหลังเกิดเหตุเมื่อพยานกับพวกเข้าไปตรวจค้นจับกุมจำเลยก็พบธนบัตร ของกลางอยู่ในกระเป๋ากางเกงของจำเลย ในชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกจับกุมเอกสารหมาย จ.3 นอกจากนี้โจทก์มีพันตำรวจตรีไพศาล สุวรรณทา พนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันว่า ในชั้นสอบสวนพยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย จำเลยให้การรับสารภาพ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เอกสารหมาย จ.6 เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการไปตามหน้าที่และไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปรักปรำจำเลย น่าเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความไปตามความสัตย์จริงที่พบเห็นมา มิได้กลั่นแกล้งให้ร้ายจำเลยแต่อย่างใด แม้บริเวณที่เกิดเหตุจะมีงานทำบุญมีคนมาร่วมงานจำนวนมาก แต่เหตุเกิดในเวลากลางวันและบ้านที่เกิดเหตุอยู่ติดถนนใหญ่ ตำแหน่งที่สิบตำรวจเอกไพฑูรย์ซุ่มดูอยู่ตรงข้ามกับบ้านที่เกิดเหตุ ไม่มีสิ่งใดปิดบังสายตาและใช้กล้องส่องทางไกลส่องดูเหตุการณ์ จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าสิบตำรวจเอกไพฑูรย์มองเห็นจำเลยพูดคุยกับสายลับและส่งมอบสิ่งของให้แก่กันจริง ที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม น่าเชื่อว่าเป็นเพราะเจ้าพนักงานตรวจค้นพบธนบัตรของกลางได้ที่ตัวจำเลยเป็นของกลางยืนยันความผิดของจำเลยโดยจำเลยยังไม่มีโอกาสหาข้อแก้ตัวได้ทัน จึงยอมรับสารภาพไปตามความสัตย์จริง ส่วนการที่มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 19 ให้ยกเลิกความในมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้ใช้ข้อความใหม่แทนในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกานั้น มาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือนับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติมาตรา 134/1 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผล บังคับย้อนหลังจึงไม่กระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ดังนั้น ข้อความในมาตรา 84 วรรคสุดท้าย แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่แก้ไขใหม่ที่บัญญัติว่า ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ… ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน…นั้น หมายถึง ถ้อยคำที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น แต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมตามเอกสารหมาย จ.3 จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานผู้จับก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จึงไม่ต้องห้ามใช้เป็นพยานหลักฐานตามพระราชบัญญัติฉบับนี้สำหรับบันทึกคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.6 นั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่าขณะที่จำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองกี่ ญาติพี่น้องของจำเลยเดินทางไปเยี่ยม จำเลยได้พูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ญาติพี่น้องฟัง ญาติพี่น้องจำเลยจึงบอกจำเลยให้รับสารภาพ แสดงว่าจำเลยให้การรับสารภาพโดยสมัครใจ มิได้เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น จึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135 พยานหลักฐานของโจทก์ประกอบกันมั่นคงรับฟังได้โดยไม่มีข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่จำเลยนำสืบต่อสู้อ้างว่าก่อนที่จำเลยจะถูกจับกุมนายพัดไม่ทราบนามสกุลใช้จำเลยให้ไปเอาของจากนายวินิจ เสกสุวรรณ โดยยื่นเงินให้จำเลย 300 บาท จำเลยจึงไปหานายวินิจบอกว่านายพัดให้มาเอาของและมอบเงินที่นายพัดให้มาแก่นายวินิจไป นายวินิจส่งของให้จำเลยจากนั้นจำเลยนำสิ่งของดังกล่าวมาให้นายพัดโดยไม่ทราบว่าสิ่งของที่นายวินิจมอบให้เป็นอะไร และเจ้าพนักงานตรวจค้นตัวจำเลยไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายนั้น เป็นเพียงคำเบิกความของจำเลยลอยๆ ไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ไปได้… คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share