คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2214/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหมวดที่ 7 ว่าด้วยการพ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน ข้อ 2.1 ระบุให้พนักงาน ที่ประสงค์จะลาออกต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้บังคับบัญชา ทราบล่วงหน้าและยื่นใบลาออกต่อฝ่ายบุคคลล่วงหน้าไม่น้อยกว่า30 วัน ก็ตาม แต่การลาออกเป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็น ลูกจ้างที่จะลาออกเมื่อใดและกำหนดวันลาออกของตนได้ หากโจทก์ยื่นใบลาออกต่อจำเลยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ เกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยได้รับ ความเสียหายอย่างไร จำเลยย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้จากโจทก์ได้ ส่วนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการ ทำงานดังกล่าวมิได้กำหนดว่านายจ้างจะต้องสั่งใบลาออกของ ลูกจ้างภายในกำหนดเวลาใดย่อมเป็นที่เข้าใจว่านายจ้าง ต้องสั่งใบลาออกภายในเวลาอันสมควรและก่อนถึงวันที่ลูกจ้างกำหนดให้มีผลในใบลาออกนั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ ศาลแรงงานกลางรับฟังมาไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยมีการ ตกลงให้จำเลยมีสิทธิสั่งใบลาออกหลังจากครบกำหนดวันลา ออกมีผลได้ การที่จำเลยมิได้สั่งอนุมัติใบลาออกภายใน วันที่โจทก์กำหนดให้มีผลในใบลาออก และหลังจากครบกำหนด ดังกล่าวแล้วโจทก์ยังคงทำงานตลอดมาโดยจำเลยยินยอมให้โจทก์ทำงานเช่นนี้ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์จำเลยไม่ติดใจเอาใบลาออกดังกล่าวเป็นข้อสาระสำคัญอีกต่อไปย่อมมีผลเท่ากับจำเลยไม่ประสงค์ให้โจทก์ลาออก ดังนั้นใบลาออกของโจทก์จึงสิ้นผลที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออก ในภายหลัง จึงเป็นการอนุมัติให้โจทก์ลาออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ทำงานครบ 1 ปี และยังไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิจำนวน 6 วัน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 60,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน180,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำนวน180,000 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน12,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์ลาออกจากงานเอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2539 ทำหน้าที่รองผู้อำนวยการค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 60,000 บาท จำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกตามความประสงค์ของโจทก์ จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “แม้จำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เอกสารหมาย ล.4 หมวดที่ 7 ว่าด้วยการพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานข้อ 2.1 ระบุให้พนักงานที่ประสงค์จะลาออก จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้บังคับบัญชาได้ทราบล่วงหน้าและยื่นใบลาออกต่อฝ่ายบุคคลล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก็ตามแต่การลาออกเป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างที่จะลาออกเมื่อใดและกำหนดวันลาออกของตนได้หากโจทก์ยื่นใบลาออกต่อจำเลยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างไร จำเลยย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้จากโจทก์ได้ ส่วนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวมิได้กำหนดว่านายจ้างจะต้องสั่งใบลาออกของลูกจ้างภายในกำหนดเวลาใดย่อมเป็นที่เข้าใจว่านายจ้างต้องสั่งใบลาออกภายในเวลาอันสมควรและก่อนถึงวันที่ลูกจ้างกำหนดให้มีผลในใบลาออกนั้นนอกจากนี้ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยมีการตกลงให้จำเลยมีสิทธิสั่งใบลาออกหลังจากครบกำหนดวันลาออกมีผลได้ การที่โจทก์ยื่นใบลาออกฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2540 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31สิงหาคม 2540 เป็นต้นไป แต่จำเลยมิได้สั่งอนุมัติใบลาออกภายในกำหนดเวลาดังกล่าว หลังจากครบกำหนดตามที่ระบุในใบลาออกโจทก์คงทำงานตลอดมาโดยจำเลยยินยอมให้โจทก์ทำงานเช่นนี้ตามพฤติการณ์ดังกล่าวกรณีถือได้ว่าโจทก์จำเลยไม่ติดใจเอาใบลาออกดังกล่าวเป็นข้อสาระสำคัญอีกต่อไป ย่อมมีผลเท่ากับจำเลยไม่ประสงค์ให้โจทก์ลาออก ดังนั้น ใบลาออกของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.2จึงสิ้นผล ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2540 จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2540เป็นต้นไป จึงเป็นการอนุมัติให้โจทก์ลาออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกรณีเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 60,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน 180,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน12,000 บาท รวมเป็นเงิน 252,000 บาท ให้แก่โจทก์และการเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 แต่ค่าเสียหายจากกรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมว่าโจทก์ควรมีสิทธิได้รับเป็นจำนวนเท่าใดย่อมเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางจะเป็นผู้กำหนด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ จำนวน 252,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง(12 ธันวาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ส่วนค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share