แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มกับเสียเงินเพิ่มและโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทั้งเรื่องภาษีเพิ่มและเงินเพิ่มเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์และโจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลทั้งเรื่องภาษีและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรมาตรา 30(2). ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาเกี่ยวกับเงินเพิ่ม
โจทก์ทราบดีว่าเงินที่โจทก์แบ่งให้แก่ ก. เป็นผลกำไรของโจทก์ทั้งประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (19)ก็บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่ารายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีไม่ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ การที่โจทก์นำรายจ่ายส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเป็นการอำพรางข้อเท็จจริง จึงไม่มีเหตุลดเงินเพิ่มให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าที่ควรเสีย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2518 ถึง 2520 จึงประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินเพิ่มอีกรวมเป็นจำนวน 39,794,941.36บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาแล้วให้ยกอุทธรณ์ โจทก์เห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเป็นการมิชอบ จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่มตามฟ้องถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย โจทก์เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง โดยนำรายจ่ายค่าส่วนแบ่งผลกำไรซึ่งโจทก์จ่ายให้แก่กรมโรงงานอุตสาหกรรม มารวมเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(19) จึงต้องเสียภาษีเพิ่มและเงินเพิ่มตามที่จำเลยประเมิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรมาตรา 22 ตามแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ลงหนึ่งในสาม
จำเลยฎีกาว่า ศาลไม่มีอำนาจลดเงินเพิ่ม และไม่สมควรลดเงินเพิ่มให้โจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยฎีกาว่าศาลไม่มีอำนาจลดเงินเพิ่มกับไม่สมควรลดเงินเพิ่มให้โจทก์นั้น สำหรับเรื่องอำนาจศาล ศาลฎีกาเห็นว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มกับเสียเงินเพิ่มและโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทั้งเรื่องภาษีเพิ่มและเงินเพิ่ม เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ และโจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลทั้งเรื่องภาษีและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาเกี่ยวกับเงินเพิ่ม ส่วนเรื่องการลดเงินเพิ่ม หม่อมราชวงศ์ปิติศิริ เกษมสันต์ พยานโจทก์ เบิกความว่า ตัวเลขที่จำเลยนำมาประเมินภาษีได้มาจากบัญชีของโจทก์ และการเรียกเงินเพิ่มในอัตราเท่ากับผู้เลี่ยงภาษีที่ไม่นำรายได้มาลงบัญชี ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ซึ่งนายผจญ โสตถิพัฒนพงศ์ พยานจำเลย เบิกความว่า พยานเป็นผู้ตรวจสอบภาษีของโจทก์ตั้งแต่ปี 2518 ถึงปี 2520 โดยตรวจจากแบบยื่นรายการภาษีเงินได้และงบดุลที่โจทก์ยื่นไว้ ปรากฏว่าโจทก์นำรายจ่ายที่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(19) ไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเป็นเงิน 100,000,000 บาทเศษ จึงได้ขอออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนจากนั้นได้ปรับปรุงรายได้ของโจทก์ใหม่แล้วแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย ล.9 ถึง ล.11 ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 8 มีใจความว่า โจทก์ยอมแบ่งกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการผลิตและจำหน่ายสุราให้แก่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผลกำไรของโจทก์ ทั้งประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(19) ก็บัญญัติไว้ชัดแจ้งความว่า รายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ การที่โจทก์นำรายจ่ายส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีจึงเป็นการอำพรางข้อเท็จจริง ทั้งการที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ทำการตรวจสอบและไต่สวนพบว่า รายการภาษีเงินได้ที่โจทก์ยื่นไว้ไม่ถูกต้อง แล้วประเมินให้โจทก์รับผิดเสียเงินอีกร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นก็เป็นการชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 20 และ 22 จึงไม่สมควรลดเงินเพิ่มให้โจทก์
พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น