คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2211/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 35 ให้ศาลบันทึกรายการแห่งข้อหา ไม่จำต้องบันทึกโดยละเอียดดังเช่นคำฟ้องเป็นหนังสือ เมื่อพิจารณาคำฟ้องที่ศาลบันทึกไว้ ประกอบกับคำสั่งของจำเลยที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอน ซึ่งโจทก์ส่งศาลและศาลนำมาแนบท้ายคำฟ้องไว้ ถือว่ามีรายละเอียดที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอน ครบถ้วนเป็นรายการแห่งข้อกฎหมายบัญญัติไว้แล้วจึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์กำหนดเพียงว่า การขาดงานเป็นการกระทำผิดวินัย โดยมิได้ระบุโทษไว้ เต่เมื่อลูกจ้างขาดงาน 1 วัน เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ก็ถือได้ว่าลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง หากได้ว่ากล่าวและตักเตือนโดยชอบแล้ว นายจ้างย่อมมีอำนาจเลิกจ้างลูกจ้างได้ ตามมาตรา 123 (3) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
เมื่อนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือมาแล้วหลายครั้ง ในการที่ลูกจ้างขาดงานครั้งก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นการว่ากล่าวและตักเตือนเป็นโทษหรือไม่ก็ตาม ย่อมเป็นการว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือ ตามความหมายของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 (3) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อศาลแรงงานกลาง ศาลบันทึกไว้ว่า เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๓ จำเลยได้วินิจฉัยว่าการที่โจทก์เลิกจ้างนายอนันต์ ขันขา ลูกจ้างของโจทก์ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามมาตรา ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ และให้โจทก์จ่ายเงินค่าเสียหายแก่นายอนันต์ ขันขาว ๔,๐๐๐ บาท ซึ่งโจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะการที่โจทก์เลิกจ้างนายอนันต์ ขันขาว ลูกจ้างของโจทก์นั้นเป็นการเลิกจ้างโดยเหตุที่นายอนันต์ ขันขาว ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของบริษัทโจทก์ โดยโจทก์ได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ซึ่งเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา ๑๒๓ (๓) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ รายละเอียดคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวปรากฏตามเอกสารแนบท้ายฟ้องหมาย ๒ ข้อให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลย ตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๕๙/๒๕๒๓ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๓ เสีย
จำเลยทั้งเก้าคนให้การว่า ฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่า ลูกจ้างโจทก์กระทำการอย่างไร ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งข้อใด การฝ่าฝืนนั้นจะต้องได้รับโทษอันกำหนดไว้อย่างไร จึงเป็นฟ้องที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ระบุเหตุอันผิดวินัยไว้ ส่วนโทษทางวินัยมีเฉพาะที่จะรับโทษถึงไล่ออกประการเดียว กรณีเหตุของนายอนันต์ไม่มีระบุโทษไว้ โจทก์ลงโทษเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเป็นการขัดต่อกฎหมายโจทก์เลิกจ้างนายอนันต์ ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ในระหว่างที่ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับสหภาพแรงงานฯ มีผลใช้บังคับ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย (โดยคู่ความไม่สืบพยาน) ว่า ฟ้องโจทก์บรรยายครบถ้วนและชัดเจนพอควร ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ แล้ว การที่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ระบุกรณีลูกจ้างขาดงาน ๑ วันว่าจะได้รับโทษ แต่มิได้กำหนดโทษไว้ว่าเป็นสถานใด โจทก์ก็มีสิทธิที่จะใช้ดุลพินิจเลิกจ้างลูกจ้างได้ นายอนันต์ ขันขาว ลูกจ้างโจทก์มีพฤติการณ์ขาดงานหลายครั้ง โดยได้มีการเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ทั้งนายอนันต์ยังมีวันลามากและมาทำงานสายหลายครั้ง การที่โจทก์เลิกจ้างนายอนันต์จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ (๓) ความเห็นของจำเลยไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลแรงงานกลาง พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เลขที่ ๕๙/๒๕๒๓ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๓ ระหว่างนายอนันต์ ขันขาว ผู้กล่าวหา และบริษัทรองเท้าบาจาแห่งประเทศไทย จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาเสีย
จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องโดยมาแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อศาล คำฟ้องในคดีนี้เป็นบันทึกของศาลที่บันทึกเอาไว้ กรณีเช่นนี้ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๕ ให้ศาลบันทึกรายการแห่งข้อหาไว้เท่านั้น หาจำต้องบันทึกโดยละเอียดดังเช่นคำฟ้องเป็นหนังสือไม่ เมื่อพิจารณาคำฟ้องที่ศาลบันทึกไว้ประกอบกับคำสั่งของจำเลยที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอน ซึ่งโจทก์ส่งต่อศาลและศาลนำมาแนบท้ายคำฟ้องไว้ มีรายละเอียดที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนเสีย ครบถ้วนเป็นรายการแห่งข้อหาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้วจึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ ซึ่งอยู่ในหมวด ๙ การกระทำอันไม่เป็นธรรม บัญญัติว่า “ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงานหรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว (๑) ฯลฯ (๓) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำต้องว่ากล่าวและตักเตือน ทั้งนี้ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวางมิให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้องหรือ (๔) ฯลฯ” เห็นว่า แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์กำหนดเพียงว่า การขาดงาน ๑ วัน เป็นการกระทำผิดวินัย โดยมิได้ระบุโทษไว้ แต่เมื่อนายอนันต์ขาดงาน ๑ วัน เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ก็นับได้ว่านายอนันต์ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โจทก์ย่อมมีอำนาจเลิกจ้างนายอนันต์ได้ ตามมาตรา ๑๒๓ (๓) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ หากได้ว่ากล่าวและตักเตือนโดยชอบแล้ว
การว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือเป็นโทษหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้ว่ากล่าวและตักเตือนนายอนันต์เป็นหนังสือมาแล้วหลายครั้ง ในการที่นายอนันต์ขาดงานครั้งก่อนๆ ย่อมเป็นการว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือตามความหมายของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ (๓) แล้ว มีผลให้โจทก์มีอำนาจเลิกจ้างนายอนันต์ในการขาดงานครั้งที่พิพาท การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
พิพากษายืน

Share