คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 221/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความว่า จำเลยทั้งสามกับพวกล้อมบังคับให้ผู้เสียหายนั่งและจับผู้เสียหายนอนลงโดยมีคนใช้เท้าเหยียบขาผู้เสียหาย และมีคนหยิบเงินจำนวน 6,500 บาทไปจากผู้เสียหาย แต่ก็ได้ความจากผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายรู้จักกับจำเลยทั้งสามมาก่อน เคยย้ายมาพักอาศัยอยู่กับทางฝ่ายจำเลยและเคยยืมเงินจำเลยที่ 2 กับวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 บอกให้ผู้เสียหายย้ายไปจากกรุงเทพฯ ในวันรุ่งขึ้น เจือสมกับข้อนำสืบของจำเลยว่า ผู้เสียหายย้ายมาขออาศัยอยู่กับฝ่ายจำเลย ฝ่ายจำเลยให้การช่วยเหลือผู้เสียหายด้านการเงิน และยอมให้ผู้เสียขายโรตี บริเวณที่จำเลยที่ 1 เคยขายมาก่อน โดยให้ขายเพียง 1 เดือน แต่ผู้เสียหายไม่ยอมย้าย คืนเกิดเหตุจำเลยทั้งสามไปพบผู้เสียหายเพื่อขอให้ย้ายที่ขายโรตี ซึ่งผู้เสียหายไม่ยอม และจำเลยที่ 2 ทวงเงินผู้เสียหาย จึงเกิดโต้เถียงกัน ส่อแสดงว่าผู้เสียหายกับฝ่ายจำเลยมีข้อขัดแย้งผลประโยชน์กัน ทั้งผู้เสียหายยังเบิกความกลับไปกลับมาในเรื่องบริเวณที่ขายโรตีของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 และเรื่องการยืมเงินของจำเลยที่ 2 ในที่เกิดเหตุคำพยานผู้เสียหายมีพิรุธ กับหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังคงอยู่ในที่เกิดเหตุจนเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับกุมได้ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ถูกจับได้ในคืนเกิดเหตุ แต่ตรวจค้นไม่พบเงินของผู้เสียหายจากจำเลยทั้งสามพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 340 และให้ร่วมกันคืนเงินจำนวน 6,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกจำเลยคนละ 12 ปีและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 6,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามได้กระทำผิดคือปล้นทรัพย์ผู้เสียหายจริงหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานปากเดียวเบิกความว่า จำเลยทั้งสามกับพวกอีก 2คนเข้าล้อมตัวผู้เสียหายไว้บังคับให้นั่งลงที่พื้นดิน จำเลยที่ 1จับคอเสื้อและใช้มืออีกข้างหนึ่งปิดตาผู้เสียหายพร้อมกับพูดว่าทำไมไม่ให้เงิน จับผู้เสียหายนอนลง มีคนใช้เท้าเหยียบขาอ่อนผู้เสียหายและมีคนใช้มือสอดไปหยิบเงินในกระเป๋าลับที่ขอบกางเกงด้านหน้าของผู้เสียหายไป 6,500 บาท แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายอีกว่าผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสามเป็นชาวบังกลาเทศด้วยกันรู้จักกันมาก่อนเป็นอย่างดีผู้เสียหายเคยอยู่ที่จังหวัดนครปฐม เมื่อย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ก็ไปอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1ที่ 2 แล้วต่อมาไปอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 3 และผู้เสียหายเคยยืมเงินจำเลยที่ 2 ในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 บอกให้ผู้เสียหายย้ายไปจากกรุงเทพมหานครในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเจือสมกับข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามว่า เมื่อผู้เสียหายย้ายมาอยู่กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ที่ 2ให้ผู้เสียหายอาศัยอยู่ด้วย ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและยอมให้ผู้เสียหายขายโรตีหน้าสถานอาบอบนวดคลีโอพัตราซึ่งจำเลยที่ 1เคยขายดีมาก่อน โดยให้ขายเพียง 1 เดือน เมื่อมีเงินแล้วให้ย้ายไปขายที่อื่น แต่ต่อมาผู้เสียหายไม่ยอมย้ายที่ขายโรตี คืนเกิดเหตุจำเลยทั้งสามไปพบผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 บอกให้ผู้เสียหายย้ายที่ขายโรตี แต่ผู้เสียหายไม่ยอมจึงเกิดโต้เถียงกัน และจำเลยที่ 2ทวงเงินผู้เสียหาย แล้วเกิดโต้เถียงกันด้วยเช่นกัน จึงส่อแสดงว่าผู้เสียหายกับฝ่ายจำเลยทั้งสามมีข้อขัดแย้งขัดผลประโยชน์กันนอกจากนี้ผู้เสียหายยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยเกี่ยวกับข้อขัดแย้งดังกล่าวว่า จำเลยทั้งสามมีอาชีพขายโรตี เดิมจำเลยที่ 1ที่ 2 ขายโรตีอยู่หน้าสถานอาบอบนวดคลีโอพัตรา แล้วเบิกความใหม่ว่าไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 ขายโรตีอยู่ที่หน้าสถานอาบอบนวดคลีโอพัตราหรือไม่ และเบิกความอีกว่าวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสามไปหาผู้เสียหายที่หน้าสถานอาบอบนวดคลีโอพัตราจำเลยที่ 2 ขอยืมเงิน2,000 – 3,000 บาท ผู้เสียหายให้เงินจำเลยที่ 2 ไปเพียง 500 บาทจำเลยที่ 2 ทราบว่าผู้เสียหายมีเงินแต่ไม่ยอมให้ จึงไม่พอใจแล้วเบิกความใหม่ว่า ตอนที่จำเลยที่ 2 ขอยืมเงินนั้นยืมกันที่บ้านจำเลยที่ 2 วันเกิดเหตุจำเลยทั้งสามไปพบกับผู้เสียหายเพื่อเยี่ยมเท่านั้น ไม่ได้ขอยืมเงินเป็นการเบิกความกลับไปกลับมามีพิรุธอีกด้วย ทั้งยังปรากฏว่าหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ก็ยังอยู่ในที่เกิดเหตุจนนายดาบตำรวจวิชัย ชื่นบำรุง กับจ่าสิบตำรวจนุกูล เมฆคงจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ในที่เกิดเหตุ แต่ตรวจค้นไม่พบเงินของผู้เสียหายที่จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ถูกพลตำรวจประหยัด นีสันเที๊ยะ กับพลตำรวจบุญชู รอดทะ จับกุมได้ในคืนเกิดเหตุแต่ก็ค้นไม่พบเงินของผู้เสียหายที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เช่นกันพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share