คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 221/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่าเท่านั้น จะโอนจะแบ่งตามกฎหมายครอบครัวหรือมรดกหรือตามนิติกรรมก็ดี ถ้าไม่มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาเช่า หรือมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าแล้ว จะโอนจะแบ่งไปยังบุคคลภายนอกแม้จะเป็นสามีภริยาหรือแม้แต่ทายาทของผู้เช่าหาได้ไม่หรือนัยหนึ่งสิทธิการเช่าเป็นสิทธิตามสัญญาซึ่งคนอื่นนอกจากคู่สัญญาเช่าจะเข้าไปมีสิทธิตามสัญญาด้วยไม่ได้ เมื่อโจทก์เป็นผู้เช่าตึกพิพาทตามสัญญาเช่าแต่ผู้เดียวจำเลยไม่ใช่คู่สัญญาด้วย. ย่อมไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยมีสิทธิตามสัญญาที่จะได้รับชำระหนี้ คือการเข้าอยู่ในตึกเช่ารายพิพาทได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 888/2511)
ข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์สัญญาจะโอนสิทธิการเช่าให้จำเลยด้วยวาจานั้น ไม่มีผลในกฎหมายที่จะผูกพันบังคับกันได้
โจทก์ฎีกาเกี่ยวกับค่าเสียหายมาด้วย แต่ไม่มีคำขอให้ใช้ค่าเสียหาย ศาลฎีกาย่อมไม่พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิการเช่าตึกแถวเลขที่ 46/4 ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้จำเลยอาศัย แต่จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อโจทก์ ขอให้ขับไล่และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย

จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือสิทธิการเช่าในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 2

ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยมีหุ้นส่วนรวมอยู่ด้วยในการเช่าที่ดินและตึกพิพาท โจทก์ทำสัญญาเช่าในนามของหุ้นส่วน ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้จดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แล้วโจทก์เป็นผู้เช่าตึกพิพาทจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แต่ผู้เดียวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2504 ตลอดมา ตามสัญญาเช่าตึกพิพาทหมาย จ.2 บัดนี้โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุตรเขยและบุตรสาวอยู่ในตึกพิพาทต่อไป ปัญหาจึงมีว่า โจทก์จะฟ้องขับไล่จำเลยได้หรือไม่ หรือจำเลยจะมีสิทธิอยู่ในตึกพิพาทได้หรือไม่

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ใช่ตัวแทนจำเลยที่ 2 ในการเช่า แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า ข้อสำคัญ สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่าเท่านั้น จะโอนจะแบ่งตามกฎหมายครอบครัวหรือมรดกหรือตามนิติกรรมก็ดี ถ้าไม่มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาเช่า หรือมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าแล้ว จะโอนจะแบ่งไปยังบุคคลภายนอกแม้จะเป็นสามีภริยาหรือแม้แต่ทายาทของผู้เช่า หาได้ไม่ หรือนัยหนึ่งสิทธิการเช่าเป็นสิทธิตามสัญญาซึ่งคนอื่นนอกจากคู่สัญญาเช่า จะเข้าไปมีสิทธิตามสัญญาด้วยไม่ได้ เมื่อโจทก์เป็นผู้เช่าตามสัญญาเช่าแต่ผู้เดียว จำเลยไม่ใช่คู่สัญญาด้วย จึงไม่อาจจะอ้างได้ว่าจำเลยมีสิทธิตามสัญญาที่จะได้รับชำระหนี้ คือการเข้าอยู่ในตึกเช่ารายนี้ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 888/2511 นายชิน วานิชสวัสดิ์ โจทก์นางชาลีนี วานิชสวัสดิ์ จำเลย) ข้อที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้ออกเงินสร้างตึกพิพาทด้วยนั้น ไม่เป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิอยู่ในตึกพิพาทได้ เพราะตึกพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งให้โจทก์คนเดียวเป็นผู้เช่าตลอดมา และการที่จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ขออนุญาตติดตั้งประปา ไฟฟ้า และโทรศัพท์ ในตึกพิพาท ก็ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้ฝ่ายจำเลยเป็นผู้เช่าตึกหรือมีสิทธิจะอยู่ในตึกพิพาทได้เช่นเดียวกัน

ส่วนข้อที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า โจทก์สัญญาจะโอนสิทธิการเช่าให้ต่อไปนั้น นอกจากไม่มีเหตุผลที่น่าเชื่อเพราะโจทก์เช่ามานานถึง 8 ปีก่อนฟ้องคดีนี้แล้ว ยังเป็นข้ออ้างด้วยวาจา ไม่มีผลในกฎหมายที่จะผูกพันบังคับได้ และยังจะต้องได้รับความยินยอมจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ผู้ให้เช่าเป็นหนังสืออีกด้วย ตามสัญญาเช่าข้อ 7 จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะใช้หรือรับประโยชน์ในตึกเช่ารายพิพาทนี้ต่อไปได้ ทั้งโจทก์เป็นผู้ชำระค่าเช่าตลอดมาตั้งแต่ปี 2504 ตามใบเสร็จรับเงินค่าเช่าจากผู้ให้เช่า ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.6 ถึง จ.22 จำเลยมีแต่รูปถ่ายเช็ค หมาย ล.15 สั่งจ่ายเงิน 5,000 บาท แก่สำนักงานทรัพย์สินฯ ฉบับเดียว ซึ่งจำเลยมิได้อธิบายว่าเป็นเงินค่าอะไร ส่วนใบเสร็จรับเงินค่าเช่า 3 ฉบับ ตามเอกสารล.1, 2, 3 ก็ออกให้ในชื่อโจทก์เป็นผู้ชำระ แสดงว่าผู้ให้เช่ายอมรับว่าโจทก์เป็นผู้เช่า หรือแม้จะฟังว่าจำเลยเคยชำระค่าเช่าบ้างบางเดือน ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิอยู่ในตึกพิพาทต่อไปได้ ฐานะของจำเลยเป็นบริวารของโจทก์เท่านั้น

ส่วนค่าเสียหาย โจทก์ฎีกามาด้วย แต่ไม่มีคำขอให้ใช้ค่าเสียหายคงขอเพียงให้ขับไล่จำเลย และให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมค่าทนายแทนโจทก์เท่านั้น

พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากตึกพิพาท

Share