แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ขายรถแทรกเตอร์ให้แก่จำเลย โดยจำเลยออกเช็คล่วงหน้าชำระหนี้ค่ารถให้โจทก์ไว้ 4 ฉบับ โจทก์นำเช็คสองฉบับแรกไปขึ้นเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากจำเลยมีคำสั่งให้ระงับการจ่าย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันที่ 11 พฤษภาคม2524 โจทก์มีหนังสือผ่อนผันแก่จำเลยอีก 4 วัน ในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้นำรถแทรกเตอร์มาคืนโจทก์แล้วสั่งธนาคารให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็ค เนื่องจากโจทก์ซ่อมและนำรถแทรกเตอร์ให้ไม่ได้ดังที่สัญญาไว้และจำเลยคืนรถแทรกเตอร์ให้โจทก์ไปแล้ว โจทก์ได้นำเช็คไปขึ้นเงินและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 13 เดือนเดียวกันเช่นนี้ หนี้ที่จำเลยจะต้องชำระราคาค่ารถแทรกเตอร์ ตามที่ระบุจำนวนไว้ในเช็คจึงระงับไปแล้ว มูลหนี้ตามเช็คย่อมไม่มี การที่จำเลยห้ามมิให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คจึงมิใช่เป็นการห้ามโดยเจตนาทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็ค ๔ ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ ๗๑,๒๕๐ บาทให้โจทก์เป็นค่าซื้อรถแทรกเตอร์ เมื่อถึงกำหนดตามวันในเช็ค โจทก์นำเช็ค ๒ ฉบับแรกไปขึ้นเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า จำเลยมีคำสั่งให้งดการจ่ายเงิน โดยจำเลยมีเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ รวมสองกระทง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยมีใจความว่า โจทก์ยอมผ่อนผันให้จำเลยอีกเพียงครั้งเดียว ถ้าเกินวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๔ จำเลยไม่ได้เงินมาสำรองให้โจทก์ก่อน ก็ให้จำเลยขับรถ (แทรกเตอร์) ไปให้โจทก์ในวันที่ ๑๕ และถ้าหากวันที่ ๑๕ โจทก์ไม่เห็นทั้งเงินหรือรถแล้วโจทก์ก็จำเป็นจะต้องมานำรถไปเองพร้อมทั้งเรียกร้องค่าเสียหาย คือเช็ค ๒ ใบแรก (เช็คพิพาท) ส่วนเช็ค ๒ ใบหลังโจทก์ไม่ติดใจ และ มีหมายเหตุ (ป.ล.) ท้ายหนังสือว่า ถ้าจะคืนรถให้โจทก์จะต้องชำระตามราคาเช็คที่จ่ายไว้ ๒ ใบ ไม่ใช่ ๗๐,๐๐๐ บาท ไม่คุ้มค่าสึกหรอ ในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้มีคำสั่งถึงธนาคารตามเช็คให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็คเนื่องจากโจทก์ซ่อมและทำรถ (แทรกเตอร์) ให้ไม่ได้ดังที่สัญญาและจำเลยได้คืนรถให้โจทก์ไปแล้ว ซึ่งฟังได้ว่าจำเลยนำรถมาคืนโจทก์ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๔ เมื่อเป็นเช่นนี้ หนี้ที่จำเลยจะต้องชำระราคาซื้อรถแทรกเตอร์ตามที่ระบุจำนวนไว้ในเช็คทั้ง ๔ ฉบับจึงระงับไป มูลหนี้ตามเช็คย่อมไม่มี แต่ปรากฏตามหนังสือดังกล่าวว่า โจทก์ยังคงจะถือเอาเช็ค ๒ ใบแรกเป็นการชำระค่าสึกหรอของรถแทรกเตอร์ซึ่งยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้นั้นได้ ฉะนั้นการที่จำเลยห้ามมิให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คพิพาทนั้น จึงไม่ใช่เป็นการห้ามโอนโดยเจตนาทุจริต
พิพากษายืน