คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2207/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ผู้ให้กู้นำสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยกับใบมอบฉันทะถอนเงินที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้แก่โจทก์มากรอกข้อความแล้วมอบให้ว. ไปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ถือว่า ว. เป็นตัวแทนโจทก์รับชำระหนี้จากจำเลย เมื่อจำเลยนำหลักฐานที่ ว. ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับตามสำเนาใบมอบฉันทะถอนเงินมาแสดง จึงถือได้ว่าเป็นการนำสืบการใช้เงินโดย มีหลักฐานเป็นหนังสือของตัวแทนผู้ให้กู้ยืมเงินมาแสดง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง ศาลรับฟังได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ย จำเลยไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยนำเงินเดือนของจำเลยโอนเข้าบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ของจำเลยซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาตลาดพลู และได้มอบสมุดบัญชีเงินฝากกับใบมอบฉันทะถอนเงินโดย จำเลยลงลายมือชื่อไว้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์กรอกจำนวนเงินแต่ละเดือนนำไปถอนเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาตลาดพลูทุก ๆ เดือน จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้นำสืบโต้แย้งฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2528 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 50,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2และเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2528 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์อีก25,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ในการกู้ยืมเงินจำเลยมอบสมุดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ของจำเลยซึ่งเปิดบัญชีไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาตลาดพลู พร้อมทั้งบัตรสมาชิกสหภาพแรงงานของจำเลยและใบมอบฉันทะถอนเงินซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบฉันทะให้แก่โจทก์ เพื่อให้โจทก์นำไปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้ที่จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์…
ข้อที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น การจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสองการนำสืบการใช้เงินของจำเลยไม่ต้องด้วยกฎหมายดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ให้นายวงศ์สกุลเป็นผู้ไปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ของจำเลยเพื่อชำระหนี้โจทก์ จึงถือว่านายวงศ์สกุลเป็นตัวแทนโจทก์รับชำระหนี้จากจำเลย ดังนั้น เมื่อจำเลยนำหลักฐานที่นายวงศ์สกุลลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินตามสำเนาใบมอบฉันทะถอนเงินเอกสารหมายล.1 มาแสดง จึงถือได้ว่าเป็นการนำสืบการใช้เงินโดย มีหลักฐานเป็นหนังสือของตัวแทนผู้ให้กู้ยืมเงินมาแสดงแล้ว การนำสืบการใช้เงินของจำเลยจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสองศาลมีอำนาจรับฟังได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share