คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2206/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนผู้คัดค้านเป็นผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ส่วนผู้ร้องที่ 5 เป็นผู้คัดค้านและขอให้เป็นผู้จัดการมรดกเช่นกัน ศาลชั้นต้นยกคำร้องและคำคัดค้าน มีเพียงผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีก่อนอุทธรณ์ ส่วนผู้ร้องที่ 5 ซึ่งเป็นผู้คัดค้านในคดีนั้นไม่อุทธรณ์ คำสั่งศาลชั้นต้นจึงถึงที่สุดสำหรับผู้ร้องที่ 5 แล้ว การที่ผู้ร้องที่ 5 ยื่นคำร้องขอร่วมกับผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ในคดีนี้จึงไม่เป็นคำร้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง
คดีก่อนผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย โดยอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ซึ่งศาลชั้นต้นยกคำร้องขอและคำคัดค้านโดยให้เหตุผลว่าผู้ตายได้ตั้งผู้จัดการตามพินัยกรรมไว้แล้วจึงไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้จัดการมรดกอีก แต่คดีนี้ผู้ร้องที่ 5 ยื่นคำร้องขอร่วมกับผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมและตั้งผู้จัดการมรดกไว้ 2 คน แต่การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้องเพราะผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่กรรมและผู้จัดการอีกคนหนึ่งไม่ประสงค์จะจัดการมรดก เหตุที่อ้างในคดีนี้จึงเป็นคนละเหตุกับคดีก่อนอันเป็นคนละประเด็นกัน ไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นคำร้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง สำหรับผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ไม่ได้เป็นคู่ความกับผู้คัดค้านในคดีก่อน กรณีจึงมิใช่คู่ความรายเดียวกัน คำร้องขอของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ที่ยื่นคำร้องขอร่วมกับผู้ร้องที่ 5 จึงไม่เป็นคำร้องซ้อนและคำร้องซ้ำกับคดีดังกล่าวเช่นกัน

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2543 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งหกเป็นผู้จัดการมรดกของนายคำพันหรือสังคม วงศ์ประทุม ผู้ตาย ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นทายาทคนหนึ่งของผู้ตายและได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายมาก่อนโดยผู้ร้องที่ 5 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านไว้ ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งและคำพิพากษายกคำร้องและคำร้องคัดค้านในคดีดังกล่าว คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ที่ผู้ร้องทั้งหกยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้จัดการมรดกของผู้ตายและศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งหกเป็นผู้จัดการมรดกในคดีนี้แล้วนั้น เป็นการยื่นคำร้องซ้ำ (ที่ถูกคำร้องซ้อน) ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) ขอให้เพิกถอนคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งหกเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องทั้งหกยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งหกเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้แม้ผู้คัดค้านเคยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกมาก่อนก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตลอดจนศาลฎีกาได้มีคำสั่งยกคำร้องแล้ว คำร้องของผู้ร้องทั้งหกจึงไม่เป็นการร้องซ้ำ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้คัดค้าน ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องทั้งหกโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ร้องทั้งหกและผู้คัดค้านต่างเป็นบุตรของนายคำพันหรือสังคม วงศ์ประทุม ผู้ตายซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2541 ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2541 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยมีผู้ร้องที่ 5 ยื่นคำร้องคัดค้านและขอเป็นผู้จัดการมรดกแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้คัดค้านและคำร้องคัดค้านของผู้ร้องที่ 5 โดยวินิจฉัยว่า แม้ผู้คัดค้านและผู้ร้องที่ 5 จะเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกได้และไม่ได้เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายก็ตาม แต่การที่ผู้ตายได้แต่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้แล้ว ถือว่ายังไม่มีเหตุที่จะตั้งให้ผู้คัดค้านหรือผู้ร้องที่ 5 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2331/2542 ของศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านฝ่ายเดียวยื่นอุทธรณ์และฎีกาคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น ซึ่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 นั้นผู้ร้องทั้งหกยื่นคำร้องขอคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า คำร้องขอของผู้ร้องทั้งหกในคดีนี้เป็นคำร้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง หรือคำร้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยในส่วนของผู้ร้องที่ 5 ก่อน เห็นว่า คดีก่อนมีเพียงผู้ร้องที่ 5 เท่านั้น ที่เป็นคู่ความกับผู้คัดค้านโดยผู้คัดค้านเป็นผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ส่วนผู้ร้องที่ 5 เป็นผู้คัดค้านและขอให้เป็นผู้จัดการมรดกเช่นกัน ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2331/2542 ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นยกคำร้องและคำคัดค้าน มีเพียงผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีก่อนอุทธรณ์ ส่วนผู้ร้องที่ 5 ซึ่งเป็นผู้คัดค้านในคดีนั้นไม่อุทธรณ์ คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงถึงที่สุดสำหรับผู้ร้องที่ 5 แล้ว การที่ผู้ร้องที่ 5 ยื่นคำร้องขอร่วมกับผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ในคดีนี้จึงไม่เป็นคำร้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง สำหรับปัญหาว่าเป็นคำร้องซ้ำหรือไม่ แม้ผู้คัดค้านจะไม่ได้ยกขึ้นคัดค้านในคำร้องคัดค้าน แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนผู้คัดค้านยกขึ้นฎีกาได้ เห็นว่า คดีก่อนผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ซึ่งศาลชั้นต้นยกคำร้องขอและคำคัดค้านโดยให้เหตุผลว่าผู้ตายได้ตั้งผู้จัดการตามพินัยกรรมไว้แล้วจึงไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้จัดการมรดกอีก แต่คดีนี้ผู้ร้องที่ 5 ได้ยื่นคำร้องขอร่วมกับผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมและตั้งผู้จัดการมรดกไว้ 2 คน แต่การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้องเพราะผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่กรรมและผู้จัดการอีกคนหนึ่งไม่ประสงค์จะจัดการมรดก เหตุที่อ้างในคดีนี้จึงเป็นคนละเหตุกับคดีก่อนอันเป็นคนละประเด็นกัน ไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นคำร้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง สำหรับผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ปรากฏว่าไม่ได้เป็นคู่ความกับผู้คัดค้านในคดีก่อน กรณีจึงมิใช่คู่ความรายเดียวกันคำร้องขอของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ที่ยื่นคำร้องขอร่วมกับผู้ร้องที่ 5 จึงไม่เป็นคำร้องซ้อนและคำร้องซ้ำกับคดีดังกล่าว เช่นเดียวกันนอกจากนั้นยังไม่มีพฤติการณ์ที่ปรากฏให้เห็นว่าผู้ร้องทั้งหกได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดก หรือจัดการมรดกโดยมิชอบอันจะเป็นเหตุที่จะสั่งถอนผู้ร้องทั้งหกออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษายกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share