คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2203/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 มิได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 7 ฟ้องคดีล้มละลาย โจทก์ที่ 7 ในฐานะตัวแทนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 จึงไม่มีอำนาจมอบให้โจทก์ที่ 10 ฟ้องคดีล้มละลายได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 มิได้อุทธรณ์ คดีระหว่างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 กับจำเลยเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยจำเลยผู้สั่งจ่ายนำไปแลกเงินสด เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คหลายครั้ง จำเลยเพิกเฉย แจ้งว่าไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ เป็นการบรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดและเข้าหลักเกณฑ์ข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 7ดำเนินคดีแทน โจทก์ที่ 7 ในฐานะตัวแทนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6และในฐานะส่วนตัวและโจทก์ที่ 8 ที่ 9 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 10 ดำเนินคดีแทน โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นผู้ทรงเช็คจำนวน17 ฉบับ รวมเป็นเงิน 3,636,375 บาท ซึ่งจำเลยสั่งจ่ายแลกเงินสดไปโจทก์ที่ 8 เป็นผู้ทรงเช็ค 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 450,000 บาทซึ่งจำเลยสั่งจ่ายชำระหนี้ให้โจทก์ที่ 10 แล้วโจทก์ที่ 10นำมาแลกเงินสดจากโจทก์ที่ 8 โจทก์ที่ 9 เป็นผู้ทรงเช็ค 1ฉบับ จำนวนเงิน 250,000 บาท ซึ่งจำเลยสั่งจ่ายชำระหนี้โจทก์ที่ 10 แล้วโจทก์ที่ 10 นำมาชำระหนี้โจทก์ที่ 9 และโจทก์ที่10 เป็นผู้ทรงเช็ค 1 ฉบับ ซึ่งจำเลยสั่งจ่ายแลกเงินสดไปธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์รวมทุกคนแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 4,586,375 บาท โจทก์ที่ 1ถึงที่ 10 ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉยอ้างว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ในขณะนี้ จำเลยยังเป็นหนี้เจ้าหนี้รายอื่นอีกหลายรายเป็นเงินกว่า 10,000,000 บาท ขอศาลพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 7 ดำเนินคดีแทน โจทก์ที่ 7 ไม่มีอำนาจตั้งโจทก์ที่ 10 เป็นตัวแทนในการดำเนินคดี คำฟ้องของโจทก์มิได้แสดงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายโดยชัดเจนคือมิได้บรรยายว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยออกเพื่อค้ำประกันหนี้บุคคลภายนอก และบุคคลภายนอกได้ชำระหนี้แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ที่ 1ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 เด็ดขาด ปรากฏตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 41/2528 และคดีนี้ศาลอนุญาตให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนโจทก์ดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายณรงค์ศักดิ์ตั้งวงศ์กิจศิริ จำเลยเด็ดขาด ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย สำหรับค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6ไม่ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 7 ฟ้องคดีนี้ โจทก์ที่ 7 จึงไม่อาจมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 10 ฟ้องคดีได้ และโจทก์ที่ 7ที่ 8 ที่ 9 ก็ไม่ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 10 ฟ้องคดีนั้นเห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6โดยวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 มิได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 7 ฟ้องคดีล้มละลาย โจทก์ที่ 7 ในฐานะตัวแทนโจทก์ที่ 1ถึงที่ 6 จึงไม่มีอำนาจมอบให้โจทก์ที่ 10 ฟ้องคดีล้มละลายได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 มิได้อุทธรณ์ คดีระหว่างโจทก์ที่ 1ถึงที่ 6 กับจำเลยเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่จำต้องวินิจฉัยอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 อีก ส่วนโจทก์ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 จะมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 10 ฟ้องคดีนี้หรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์ได้แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 มาพร้อมคำฟ้อง และโจทก์ที่ 10 เบิกความยืนยันว่า ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ให้ฟ้องคดีนี้ได้ โดยได้อ้างส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจต่อศาลด้วยจำเลยเพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นสืบพยานจำเลยโดยจำเลยเพียงแต่อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความลอย ๆ ว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ที่ 7ที่ 8 ที่ 9 ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 10 ฟ้องคดีนี้
ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะฟ้องมิได้แสดงว่าโจทก์มีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทอย่างไร ทั้งไม่แสดงหลักเกณฑ์ข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างไรหรือไม่นั้น เห็นว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายชัดเจนแล้วว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยจำเลยผู้สั่งจ่ายนำมาแลกเงินสดไป รวมเป็นเงินตามเช็ค 4,586,375 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดอันเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนและเมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามเช็ค โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย แจ้งว่าไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ อันเข้าหลักเกณฑ์ข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับแล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
พิพากษายืน.

Share