แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาไว้จึงอาจจะเป็นการแสดงออกของผู้ได้รับประโยชน์แห่งเงื่อนไขเวลาโดยตรงหรือโดยปริยายก็ได้ หากจำเลยประสงค์จะได้รับประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่กำหนดให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ในวันที่ 31 มกราคม 2530 อันเป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้นซึ่งกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้คือจำเลยที่ยังไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์จนกว่าจะครบกำหนดเงื่อนเวลาดังกล่าว จำเลยก็จะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ เมื่อจำเลยให้การเพียงปฏิเสธหนี้ของโจทก์โดยมิได้ยกเงื่อนเวลานั้นเป็นข้อต่อสู้ จึงเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาโดยปริยาย ปัญหาเรื่องเงื่อนเวลามิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ โจทก์พร้อมที่จะชำระราคาที่ดินทั้งหมดให้แก่จำเลย และได้แจ้งกำหนดนัดให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ไปตามนัดทั้งยังมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินแก่โจทก์พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์พร้อมกับรับชำระราคาทั้งหมดไปจากโจทก์ก่อนครบกำหนดเงื่อนเวลาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4424 แก่โจทก์ในราคา 600,000 บาทวางมัดจำ 2,000 บาท กำหนดโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 31 มกราคม 2530โจทก์แจ้งจำเลยว่าจะชำระค่าที่ดินที่เหลือทั้งหมดในวันที่ 25สิงหาคม 2529 และขอรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี แต่จำเลยไม่ไปตามนัดต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2529 โจทก์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาและเงินมัดจำ 2,000 บาท จากจำเลย จำเลยผิดสัญญาขอให้จำเลยที่ 1 รับเงินค่าที่ดินและโอนที่ดินให้โจทก์ หากไม่ไปโอนให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนโดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการโอนทั้งสิ้น
ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในชั้นรับคำฟ้อง เนื่องจากเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ว่าเงินค่าซื้อที่ดินงวดต่อ ๆ ไปโจทก์จะนำไปชำระที่บ้านจำเลยที่ 1 วันที่ 25 สิงหาคม 2529 จำเลยที่ 1 รอพบโจทก์ที่บ้านแต่โจทก์ไม่นำเงินไปชำระตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2529 จำเลยที่ 1 ไม่ทราบและไม่เคยได้รับคำนัดหมายจากโจทก์ที่จะนำเงินไปชำระที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีในวันที่ 25 สิงหาคม 2529
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับชำระเงินจำนวน600,000 บาท จากโจทก์และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4424แก่โจทก์โดยจำเลยที่ 1 ออกค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการโอนหากจำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ก่อนวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อขายได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.1 กำหนดให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่ 31 มกราคม 2530 อันเป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า กำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้คือจำเลยที่ 1 ที่ยังไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ก็ตามแต่ในวรรคสองของมาตราดังกล่าวนี้บัญญัติว่า ประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นฝ่ายใดจะสละเสียก็ได้ การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานี้กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบไว้ ซึ่งอาจจะเป็นการแสดงออกของผู้ได้รับประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาโดยตรงหรือโดยปริยายก็ได้ ในกรณีที่มีคดีมาสู่ศาลหากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะได้รับประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็จะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีเอาไว้เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การเพียงปฏิเสธหนี้ของโจทก์อย่างเดียวโดยมิได้ยกเงื่อนเวลานั้นมาเป็นข้อต่อสู้ จึงเท่ากับเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นโดยปริยาย ดังนั้นศาลจะหยิบยกปัญหาเรื่องเงื่อนเวลาขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ เพราะมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์นำปัญหาเรื่องเงื่อนเวลาขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์พร้อมที่จะชำระราคาที่ดินพิพาททั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 และแจ้งให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่ 25 สิงหาคม 2529 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ตามนัดทั้งยังให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2529พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55โจทก์จึงมีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์พร้อมกับรับชำระราคาทั้งหมดไปจากโจทก์ก่อนครบกำหนดเงื่อนเวลาได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น