คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2201/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 154 วรรคสองอาจจะเป็นการแสดงออกของผู้ได้รับประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาโดยตรงหรือโดยปริยายก็ได้ จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธหนี้ของโจทก์อย่างเดียวโดยมิได้ยกเงื่อนเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นโดยปริยาย ศาลจะหยิบยกปัญหาเรื่องเงื่อนเวลาขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ เพราะมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์พร้อมที่จะชำระราคาที่ดินพิพาททั้งหมดให้จำเลยที่ 1 และแจ้งให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1ไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ตามนัด ทั้งต่อมายังมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1โต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกับให้รับชำระราคาจากโจทก์ก่อนครบกำหนดเงื่อนเวลาได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาจะซื้อขาย ขอให้จำเลยที่ 1รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์จำนวน 600,000 บาท และโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 4424 หมู่ที่ 10 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีให้โจทก์ทันทีโดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าฤชาธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการโอนทั้งสิ้น หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปทำการโอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
ในชั้นรับคำฟ้องศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยที่ 2 เนื่องจากเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4424หมู่ที่ 10 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินจากจำเลยที่ 1 มานานประมาณ 8-9 ปี โดยทำสัญญาเช่าเป็นรายปี ปีละครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 มกราคม2529 ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 1 มกราคม 2530 ระหว่างที่สัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนด วันที่ 25 สิงหาคม 2529 จำเลยที่ 1 พร้อมตัวแทนได้รอพบโจทก์ที่บ้านทั้งวันเพื่อให้โจทก์นำเงินค่าที่ดินมาชำระแก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญา แต่โจทก์ก็ไม่ได้นำเงินมาชำระ ต่อมาวันที่6 ตุลาคม 2529 จำเลยที่ 1 จึงได้ให้ทนายมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ทราบและไม่เคยได้รับคำนัดหมายจากโจทก์ที่จะนำเงินไปชำระค่าที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับชำระเงินจำนวน 600,000 บาทจากโจทก์และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4424 หมู่ที่ 10ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1ออกค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการโอน หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อขายที่ดินที่กำหนดให้โจทก์ผ่อนชำระราคาในวันที่ 25 สิงหาคม 2529 แต่ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินเอาไว้เท่ากับไม่มีข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์จึงต้องชำระเงิน 600,000 บาท และจำเลยที่ 1 ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่ 31 มกราคม 2530 ตามข้อกำหนดในสัญญาและข้อกำหนดดังกล่าวเป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้นเป็นประโยชน์แก่คู่กรณีตามสัญญาทั้งสองฝ่าย โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตามสัญญาก่อนถึงกำหนดแห่งเงื่อนเวลาเริ่มต้นดังกล่าวไม่ได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2529 โจทก์กับจำเลยที่ 1ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกันปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1สัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงกันว่า จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4424 หมู่ที่ 10 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีเนื้อที่ 1 งาน 50 ตารางวา พร้อมด้วยโทรศัพท์และสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ในราคา 600,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินมัดจำตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 2,000 บาทแล้ว และโจทก์จะต้องชำระราคาส่วนที่เหลือทั้งหมดในวันที่ 31 มกราคม 2530 พร้อมกันนั้นจำเลยที่ 1จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ด้วย ต่อมาในวันที่25 สิงหาคม 2529 โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปสำนักงานที่ดินเพื่อรับเงินราคาที่ดินทั้งหมดจากโจทก์และให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ไปพบโจทก์ และปฏิเสธไม่ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยในวันที่6 ตุลาคม 2529 จำเลยที่ 1 ได้ให้ทนายความทำหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่20 มกราคม 2530 คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมกับสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ก่อนวันที่ 31 มกราคม 2530อันเป็นวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 กำหนดให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่ 31 มกราคม 2530 อันเป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 วรรคแรกบัญญัติไว้ว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้คือจำเลยที่ 1 ที่ยังไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ก็ตามแต่ในวรรคสองของมาตราดังกล่าวนี้ บัญญัติว่า ประโยชน์แห่งเงื่อนไขเวลานั้นฝ่ายใดจะสละเสียก็ได้ การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานี้กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบไว้ ซึ่งอาจจะเป็นการแสดงออกของผู้ได้รับประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาโดยตรงหรือโดยปริยายก็ได้ในกรณีที่มีคดีมาสู่ศาล หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะได้รับประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว จำเลยที่ 1ก็จะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีเอาไว้เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การเพียงปฏิเสธหนี้ของโจทก์อย่างเดียวโดยมิได้ยกเงื่อนเวลานั้นมาเป็นข้อต่อสู้ จึงเท่ากับเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นโดยปริยายดังนั้นศาลจะหยิบยกปัญหาเรื่องเงื่อนเวลาขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้เพราะมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์นำปัญหาเรื่องเงื่อนเวลาขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบอย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์พร้อมที่จะชำระราคาที่ดินพิพาททั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 และแจ้งให้จำเลยที่ 1โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่ 25 สิงหาคม 2529แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ตามนัดทั้งยังให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2529 พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยที่ 1ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์พร้อมกับรับชำระราคาทั้งหมดไปจากโจทก์ก่อนครบกำหนดเงื่อนเวลาได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย…”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share