คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 220/2479

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อฟ้องโจทก์อ้างบทขอให้ลงโทษจำเลยในบทที่เบา แม้โจทก์บรรยายข้อความในฟ้องชัดเจน ซึ่งอาจจะลงโทษจำเลยในบทที่หนักได้ ศาลจะสันนิษฐานว่าโจทก์ประสงค์จะขอให้ลงโทษตามบทที่หนักหาได้ไม่ เว้นแต่โจทก์ขอผิดบทอันเกิดแต่เข้าใจผิดหรือหลงลืม

ย่อยาว

ได้ความว่าตามข้อหาแลคำรับของจำเลยว่า จำเลยต้มกลั่นสุราแล้วจำหน่ายขายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาษีชั้นใน จ.ศ.๑๒๔๘ มาตรา ๓๘ แลแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๗๖ มาตรา ๗
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปรับจำเลยตามคำขอท้ายฟ้อง
ปรากฎว่า เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขออ้างบทลงโทษพระราชบัญญัติแก้ไข พ.ศ.๒๔๗๖ ตาม มาตรา ๘ อีกมาตราหนึ่ง โดยกล่าวว่าแม้โจทก์จะมิได้ขอให้ลงโทษในฐานนี้มาแต่เดิม แต่โจทก์ได้กล่าวบรรยายข้อความไว้ในฟ้องก็เป็นความประสงค์ของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยในฐานนี้ด้วย
ศาลล่างทั้ง ๒ วินิจฉัยต้องกันให้ยกคำร้องโจทก์
ศาลฎีกาเห็นว่าตาม ม.๑๙๒ ตอน ๓ แห่งประมวลวิธีพิจารณาอาญา ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อในฟ้องแลตามที่ปรากฎในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ลงโทษจำเลย เห็นว่าไม่มีทางที่ศาลอาจจะทราบความประสงค์ของโจทก์ นอกจากจะตรวจดูบทกฎหมายที่โจทก์อ้างขอให้ลงโทษท้ายฟ้อง และเมื่อโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามบทที่เบา ศาลไม่ควรสันนิษฐานว่าโจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษตามบทที่หนัก เว้นแต่จะปรากฎโดยชัดว่า เป็นเรื่องที่โจทก์ขอผิดบทมาตราอันเกิดแต่เข้าใจผิดหรือหลงลืม จึงพิพากษายืนตามศาลล่าง

Share