แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยไม่ได้ทำนาในที่พิพาท แต่จำเลยเลี้ยงปลาในที่พิพาททั้งแปลง แม้สัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจะมีคำว่าเช่าเพื่อทำนาด้วยก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้เช่านาและได้ทำนาในที่พิพาทตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาจำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาของโจทก์ที่ 2, 3, 4 โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5469, 5474 โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5470, 5475 โจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5471,5476 ตำบลบางเมือง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 71 ไร่เศษ เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 5474, 5475, 5476 เป็นของโจทก์ที่ 1 ได้จดทะเบียนยกให้โจทก์ที่ 2, 3 และ 4 ก่อนยกให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ดูแลให้เช่าที่ดินทั้งหกแปลงนี้ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2516 โจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่ดินทั้งหกแปลงเพื่อใช้เลี้ยงปลามีกำหนด 3 ปี คิดค่าเช่าไร่ละ 150 บาท ชำระค่าเช่าปีละครั้งเป็นเงิน 10,500 บาท จำเลยได้ใช้ที่เช่าเลี้ยงปลาและปลูกที่พักอาศัยเมื่อสัญญาเช่าสิ้นอายุ โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาเช่าฉบับที่ 2 ต่ออีกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2519 กำหนดการเช่า 3 ปี สิ้นอายุการเช่าวันที่ 21 พฤษภาคม 2522มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับสัญญาฉบับแรก การเช่าครั้งที่ 2 จำเลยค้างชำระค่าเช่าปีสุดท้ายเป็นเงิน 10,500 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ก่อนที่สัญญาเช่าฉบับหลังจะครบกำหนด 1 ปี โจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลย จำเลยได้ทราบแล้ว เมื่อสัญญาเช่าฉบับที่ 2 ครบกำหนด สัญญาเช่าดังกล่าวจึงระงับ แต่จำเลยไม่ส่งมอบที่ดินคืนโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการที่โจทก์จะเลี้ยงปลาในที่ดินนี้เอง ซึ่งจะมีรายได้ไม่น้อยกว่าไร่ละ 1,000 บาทต่อปี ขอให้พิพากษาให้จำเลยส่งมอบที่ดินที่เช่าให้โจทก์และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโจทก์ ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินห้ามเกี่ยวข้อง ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง 10,500 บาท และใช้ค่าเสียหายปีละ 70,000 บาททุกปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากที่ดินโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้เช่าที่ดินจากโจทก์ที่ 1 เพื่อทำนาและเลี้ยงปลาจริงไม่ได้เช่าเพื่อเลี้ยงปลาอย่างเดียว เช่าที่ดินเพื่อทำนาและเลี้ยงปลาสัญญาเช่าฉบับที่ 2เป็นการเช่าที่มีกำหนดระยะเวลาต่ำกว่า 6 ปี ซึ่งต้องถือว่าการเช่าของจำเลยมีกำหนดระยะเวลา 6 ปี ตามกฎหมาย สัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยจึงยังไม่สิ้นสุดจำเลยไม่เคยค้างชำระค่าเช่า โจทก์บอกเลิกการเช่านาเพื่อนำไปให้บุคคลอื่นเช่าเลี้ยงปลามิได้ใช้เพื่อการเกษตรด้วยตนเองและมิได้ใช้เพื่อประโยชน์แห่งครอบครัวของตนเองตามความจำเป็น โจทก์จึงไม่มีอำนาจบอกเลิกการเช่านาดังกล่าว จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวจากโจทก์หรือตัวแทนแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย หากโจทก์จะเลี้ยงปลาจะได้รับผลประโยชน์ภายหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วไม่เกินไร่ละ 300 บาทต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 และตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินระบุว่าเช่าเพื่อเลี้ยงปลาและทำนา จำเลยจึงได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา มาตรา 5, 32(3), 35 จำเลยยอมรับว่ายังติดค้างค่าเช่าในปี พ.ศ. 2522 อยู่จริง ค่าเสียหายไม่เกินเดือนละ 300 บาทต่อไร่ โจทก์แถลงรับเรื่องค่าเช่าและค่าเสียหายว่าเป็นดังจำเลยแถลง และโจทก์จำเลยตกลงกันให้ศาลชี้ขาดว่าจำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่านาหรือไม่เป็นข้อแพ้ชนะ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สภาพที่พิพาททั้งหมดเป็นบ่อปลาและจำเลยก็รับว่าตั้งแต่เช่ามาไม่เคยปลูกข้าว จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 พิพากษาให้จำเลยส่งมอบที่พิพาทแก่โจทก์ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกจากที่พิพาทห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ติดค้าง 10,500 บาท พร้อมค่าเสียหายไร่ละ 300 บาทต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517มาตรา 4 บัญญัติว่า “นา” หมายความว่าที่ดินซึ่งโดยสภาพใช้เป็นที่เพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่ “ทำนา” หมายความว่าการเพาะปลูกข้าวหรือการเพาะปลูกพืชไร่ “ผู้เช่านา”หมายความว่าผู้ที่เช่านาเพื่อทำนาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ “การเช่านา” หมายความว่าการเช่าหรือเช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าเพื่อทำนา ปรากฏในคำแถลงของจำเลยตามที่ศาลจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2522ว่า ก่อนจำเลยจะเช่าที่พิพาทจากโจทก์ ผู้เช่าเดิมได้เลี้ยงปลาในที่พิพาททั้งแปลงจำเลยเช่าแล้วคงเลี้ยงปลาตลอดมาจนทุกวันนี้ ไม่เคยปลูกข้าวหรือทำนาในที่พิพาทเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยหาได้ทำนาในที่พิพาทไม่ จึงถือว่าจำเลยเป็นผู้เช่านาและได้ทำนาในที่พิพาทตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาไม่ได้แม้ในสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยจะมีคำว่าเช่าเพื่อทำนาก็ตาม จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
พิพากษายืน